post

สโมสรอังกฤษมาดี!เกร็ดทีมผู้ดีในศึก ยูฟ่า ยูโรปา ลีก (รอบแบ่งกลุ่ม นัดแรก)

Football-202

สำหรับการแข่งขันเปิดหัวศึก ยูฟ่า ยูโรปา ลีก จบไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ อาร์เซน่อล แสดงให้เห็นถึงศักยภาพชั้นยอด ในขณะที่ วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ ต้องเจอกับความผิดหวังเมื่อแพ้ในแมตช์นี้ แถมยังสะกดคำว่าชนะไม่ได้เลยตลอด 3 เกมที่ผ่านมา

    “ปีศาจแดง” กับ “ไอ้ปืนใหญ่” นอกจากชนะเอาฤกษ์เอาชัยแล้ว ทีมที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา และ อูไน เอเมรี่ ส่งลงสนามแทบจะเป็นชุดสำรอง และมีดาวรุ่งผสมผสานเข้าไปได้ แต่ผลงานบอกเลยว่าไม่ธรรมดา เพราะนักเตะเหล่านี้โชว์ผลงานชั้นยอดเกินวัยดีแท้

    ในขณะที่ วูล์ฟส์ หากไม่นัดรอบคัดเลือกในเกม ยูโรปา ลีก ก่อนจะทะลุรอบแบ่งกลุ่ม ผลงานของพวกเขาย่ำแย่เหลือเกินในพรีเมียร์ลีก ผ่านไป 5 แมตช์ก็สะกดคำว่าชนะไม่เป็น แถมช่วง 3เกมที่ผ่านมาก็แพ้เรียบวุธ ต้องบอกว่าสถานการณ์ของ นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต กับเก้าอี้ “หมาป่า” เริ่มร้อนระอุซะแล้ว

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด  (อังกฤษ) 1-0 อัสตานา (คาซัคสถาน)
– แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่แพ้ใครเลย 12 เกมหลังสุดในศึกยูโรปา ลีก (ชนะ 9 เสมอ 3) แถมยังเก็บคลีนชีตได้ 8 แมตช์อีกต่างหาก
– ค่าเฉลี่ยอายุนักเตะ 11 ตัวจริง “ปีศาจแดง” พบ อัสตานา อยู่ที่ 24 ปีกับ 145 วัน ซึ่งเป็นทีมค่าเฉลี่ยอายุน้อยที่สุดของพวกเขาในเกมยูโรปาลีก/แชมเปี้ยนส์ ลีก นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2012 (24 ปีกับ54 วัน แมตช์พบ ซีเอฟอาร์ คลูจ์)

Football-203

– นักเตะตัวจริงแมนฯ ยูไนเต็ด ด้วยการส่ง 3 ดาวรุ่งเกมกับ อัสตานา (เมสัน กรีนวู้ด, ทาฮิธ ชอง และ แองเจล โกเมส) ซึ่งมากที่สุดของพวกเขาในเกมยูโรปา ลีก/แชมเปี้ยนส์ ลีก นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2009 ในเกมพบ เบซิคตัส (แดนนี่ เวลเบ็ค, เฟเดริโก มาเคด้า และ ราฟาเอล)
– แมนฯ ยูฯ ทำสถิติตชนะ 2 เกมติดต่อกันตลอดทุกรายการ (เกมทางการ) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2019 (ชนะ 3 เกมรวมแมตช์ชนะ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง)
– เมสัน กรีนวู้ด กลายเป็นนักเตะคนแรกที่เกิดตั้งแต่ปี 2000 ยิงประตูให้กับทีมชุดใหญ่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด (เกิดเดือนตุลาคม 2001)
– เมสัน กรีนวู้ด เป็นนักเตะคนแรงที่อายุเพียง 17 ปียิงประตูให้แมนฯ ยูไนเต็ด ในหน้าประวัติศาสตร์ 141 ปีของสโมสรที่ลงเล่นในเกมฟุตบอลถ้วยยุโรป

Football-204

– ทำเนียบนักเตะอายุน้อยสุดของ แมนฯ ยูฯ ที่ยิงประตูในเกมฟุตบอลถ้วยยุโรป
– เมสัน กรีนวู้ด (17 ปี 253 วัน)
– มาร์คัส แรชฟอร์ด (18 ปีกับ 117 วัน)
– จอร์จ เบสต์ (18 ปีกับ 158 วัน)
 

ไอน์ทรัค แฟร้งค์เฟิร์ต (เยอรมัน) 0-3 อาร์เซน่อล (อังกฤษ)
– อาร์เซน่อล แพ้เพียงเกมเดียวเท่านั้นจากการเล่นรอบแบ่งกลุ่ม 13 แมตช์ในยูโรปา ลีก (ชนะ 10 เสมอ 2) ขณะเดียวกันยังเก็บคลีนชีต 6 แมตช์ติดต่อกันในรอบแบ่งกลุ่มรายการนี้
– อาร์เซน่อล ชนะเกมเยือนฟุตบอลถ้วยยุโรปในการพบกับสโมสรจากเยอรมนีครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2013 (ชนะ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 1-0 แชมเปี้ยนส์ ลีก) โดยที่ผ่านมาแทบรากเลือดกว่าจะชนะโดย 5 แมตช์เยือนสถิติเสมอ 1 แพ้ 4

Football-205

– แฟร้งค์เฟิร์ต ต้องพบกับความพ่ายแพ้ในบ้านมากที่สุดในการเล่นฟุตบอลถ้วยยุโรป
– ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมย็อง ยิงประตูที่ 7 จาก  7 เกมหลังสุดในการเล่นยูโรปา ลีกให้กับ อาร์เซน่อล โดยงานนี้ 4 ประตูมาจากการเล่นเกมเยือน
– ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมย็อง ยิงเข้ากรอบ 6 ครั้งในเกมกับ แฟร้งค์เฟิร์ต และได้ 1 ประตู
– บูกาโย ซาก้า กับวัย 18 ปีกับ 14 วัน  ทำให้เขาเป็นนักเตะอายุน้อยสุดที่ยิงประตูให้ อาร์เซน่อล ในเกมยูโรปา ลีก/แชมเปี้ยนส์ ลีก นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2008 ตอนที่ อารอน แรมซี่ย์ (17 ปีกับ 300 วัน) ยิงประตู เฟเนร์บาห์เช่

Football-206

– บูกาโย ซาก้า สร้างโอกาสมากกว่านักเตะคนอื่นๆที่อยู่ในสนามในแมตช์ที่ อาร์เซน่อล ชนะ แฟร้งค์เฟิร์ต 3-0
– ทำเนียบนักเตะอายุน้อยสุดชาวอังกฤษที่ยิงประตูให้อาร์เซน่อลในเกมฟุตบอลถ้วยยุโรป
– สจ๊วร์ต ร็อบสัน 17 ปีกับ 312 วัน
– บูกาโย ซาก้า 18 ปีกับ 14 วัน
– อเล็กซ์ อ็อกซ์เลค-แชมเบอร์เลน 18 ปีกับ 44 วัน
– เอมิล สมิธ-โรว์ 18 ปีกับ 67 วัน
-นิโกล่าส์ เปเป้ ลงเล่นเกมแรกในการแข่งขันฟุตบอลถ้วยยุโรป


วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ (อังกฤษ) 0-1บราก้า (โปรตุเกส)
– วูล์ฟส์ แพ้ 3 เกมติดต่อกันจากการเล่นทุกรายการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2018
– วูล์ฟส์ เจอกับช่วงเวลาย่ำแย่เมื่อเป็นครั้งแรกที่พวกเขาไม่สามารถยิงประตูในบ้านได้จากการเล่นทุกรายการนับตั้งแต่เดือนเมษายน

Football-207

– ที่โมลินิวซ์ กราวน์ นั้น “หมาป่า” แพ้ 2 เกมติดต่อกันจากการเล่นทุกรายการเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 (แพ้ ลิเวอร์พูล 0-2 และแพ้ คริสตัล พาเลซ 0-2)
– บราก้า ยังไม่แพ้ใครในการเล่นเกมแรกรอบแบ่งกลุ่มยูโรปา ลีก ทุกครั้ง โดยชนะ 4 และเสมอ 1 (ชัยชนะ 4 เกมมาจากการเล่นเกมเยือน)

post

โลกแตกจะทำได้หรือเปล่า ? 5 สถิติพรีเมียร์ลีกที่ยากจะทำลาย

Football-188

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นหนึ่งในลีกที่ดีที่สุดในวงการลูกหนังยุโรปนับตั้งแต่ที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อฤดูกาล 1992/93 ซึ่งถูถนำมาแทนที่การแข่งขันฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 เมืองผู้ดี โดยมี แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ครองความยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์ 13 สมัย โดยรวมทั้งหมดในการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดอยู่ที่ 20 สมัย

    ตลอดระยะเวลา 27 ปีในหน้าประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก มีนักเตะชั้นยอดมากมายที่เดินทางมาค้าแข้งในเมืองผู้ดีกับหลายๆ สโมสร โดยนักเตะเหล่านี้ยังได้สร้างความทรงจำเอาไว้ในเกมลีกมากมาย โดยเฉพาะกับการสร้างสถิติที่ถือว่าน่าเหลือเชื่อมากๆ

    จากคำโบราณที่บอกว่า “สถิติมีไว้เพื่อทำลาย” อาจจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่สถิติบางอย่างมันก็ยากจะทำลายได้จริงๆ โดยเฉพาะในการแข่งขันลีกสูงสุดเมืองผู้ดี เพราะสถิติเหล่านี้เมื่อมองดูแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะมีใครสามารถทำลายลงได้ในอนาคตอันใกล้นี้ 

1. ยิงประตูในพรีเมียร์ลีกมากที่สุด – อลัน เชียเรอร์ 260 ประตู (นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด, แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส)

Football-189

    สำหรับการยิงประตูจำนวน 260 ลูกในลีกสูงสุดประเทศอังกฤษ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ฉะนั้นคงไม่ผิดอะไรที่จะยก “ฮอตชอต” อลัน เชียเรอร์ อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษ คือตำนานของพรีเมียร์ลีก เพราะผลงานที่เขาสร้างเอาไว้มันยากจะทำลายได้จริงๆ

    เชียเรอร์ ซึ่งได้รับการเชิดชูว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดกองหน้าที่ดีที่สุดของ อังกฤษ ยิงประตูมากมายก่ายกองจากการเล่นให้กับ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ตามด้วย นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ซึ่งเขามีอัตราการตะบันตาข่ายคู่แข่งถึง 0.59 ประตูต่อแมตช์ ขณะเดียวกันยังทำ 64 แอสซิสต์ด้วย

Football-190

    นอกจากสถิติการยิงประตูถล่มทลายแล้ว เชียเรอร์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักเตะที่ซัดแฮตทริกมากที่สุด ยังมีสถิติการยิงประตูจากในเขตโทษ และจุดโทษ มากมายมหาศาล กระนั้นสถิติการซัดแฮตทริกของเขาอาจจะโดนทำลายในเร็วๆ นี้ เพราะ เซร์คิโอ อเกวโร่ หัวหอกแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตะบันแฮตทริกไปแล้ว 11 ครั้งซึ่งเท่ากับ “ฮอตชอต” และดูเหมือนจะทำได้อีกหากยังค้าแข้งกับ “เรือใบสีฟ้า” ต่อไป

    ตอนนี้มีนักเตะเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นที่ตะบันประตูเกิน 200 ลูกในพรีเมียร์ลีก ได้แก่ เชียเรอร์ กับ เวย์น รูนี่ย์ ขณะที่ แฮร์รี่ เคน ซึ่งว่ากันว่าเป็นกองหน้าที่เก่งที่สุดของ อังกฤษ ในเวลานี้ ซัดไปแล้ว 128 ประตูให้กับ สเปอร์ส ในวัยเพียง 26 ปี เขาอาจจะทำสถิติแซงหน้าตำนานเบอร์ 9 ทัพ “สิงโตคำราม” ไหม ? เวลาเท่านั้นที่่จะบอกได้ !!!

2. โหม่งทำประตูมากที่สุด – ปีเตอร์ เคร้าช์ 53 ประตู (แอสตัน วิลล่า, เซาธ์แฮมป์ตัน, ลิเวอร์พูล, พอร์ทสมัธ, สเปอร์ส และสโต๊ค ซิตี้)

Football-191

    ในพรีเมียร์ลีกมีกองหน้าทำประตูมากมาย แต่สำหรับ ปีเตอร์ เคร้าช์ โดดเด่นเป็นสง่ากว่าดาวยิงคนอื่นๆ เพราะประตูเกือบครึ่งที่เขาทำได้ในลีกสูงสุดมากจากหัวกบาล ฉะนั้นต้องยอมรับว่า ดาวยิงร่างโย่ง เป็นนักฟุตบอล “หัวดี” อย่างไม่ต้องสงสัย

    เป็นเรื่องปกติเมื่อ เคร้าช์ ลงสนามเขาจะโดดเด่นกว่าผู้เล่นคนอื่นๆ เนื่องจากมีรูปร่างสูงโย่งผอมเกร็ง ฉะนั้นด้วยธรรมชาติที่เกิดมาได้เปรียบทำให้เจ้าตัวใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ในการโหม่งทำประตู แน่นอนว่าตลอดช่วงเวลาเกือบ 20 ปีที่โลดแล่นในวงการลูกหนัง อดีตเด็กปั้น สเปอร์ส ยิงประตูด้วยการโหม่ง 53 ลูกก่อนที่จะแขวนเกือกเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้ 

Football-192

    เคร้าช์ ทำประตูด้วยลูกโหม่งกับทุกๆ สโมสรที่เขาเคยค้าแข้งด้วย รวมทั้งในยามที่เล่นให้ทีมชาติอังกฤษ แต่เขาต้องผิดหวังในการส่งบอลเข้าไปซุกก้นตาข่ายกับการค้าแข้งให้กับสโมสรสุดท้ายนั่นก็คือ เบิร์นลี่ย์ เมื่อได้ลงสนาม 6 แมตช์แต่ไม่มีชื่อบนสกอร์บอร์ดเลย 

    อย่างไรก็ตาม สามีของ  แอ็บบี้ แคลนซี่ นางแบบสุดเซ็กซี่ ได้สร้างชื่อให้โลกจดจำไปแล้ว เมื่อเขาถูกบันทึกเอาไว้ในกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดเมื่อปี 2018 ว่าเป็นนักฟุตบอลที่โหม่งประตูมากที่สุด 

Football-193

    ทั้งนี้ เชียเรอร์ ซึ่งยิงประตูในลีกมากที่สุด ใช้กบาลโหม่งบอลเข้าประตู 46 ลูก โดย 87 เปอร์เซ็นต์จากประตูที่ทำได้มาจากในกรอบเขตโทษ ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะได้ประตูจากการเล่นบอลโยนยาว โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกองหลังตัวใหญ่ตามประกบ แต่ เคร้าช์ เป็นกรณียกเว้น

3. แอสซิสต์มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก – ไรอัน กิ๊กส์ 162 ครั้ง (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)  

Football-194

    ตำนานปีกพ่อมดเลือดเวลส์ ได้เขียนชื่อตัวเองเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นหนึ่งในนักเตะที่เล่นอยู่กับสโมสรเดียวจนกระทั่งแขวนเกือก นั่นก็คือ แมนนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 

    ไรอัน กิ๊กส์ สวมชุด “เร้ด เดวิลส์” ลงสนามถึง 22 ฤดูกาล ซึ่งเขาเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของ แมนฯ ยูไนเต็ด เหนือทีมคู่แข่งในลีก นั่นก็คือการนำสโมสรคว้าทริปเบิ้ลแชมป์ (พรีเมียร์ลีก, เอฟเอ คัพ และ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก) เมื่อฤดูกาล 1998/99 และสะสมโทรฟี่แชมป์ไปถึง 34 รายการ

Football-195

    กิ๊กส์ ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของ แมนฯ ยูไนเต็ด ช่วงที่ใช้เวลาค้าแข้งกับสโมสร โดยเฉพาะการเติมเกมบุกในพื้นที่สุดท้าย แม้ “กิ๊กซี่” จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นจอมถล่มประตูเพราะเขาซัดไป 109 ลูกให้กับต้นสังกัด แต่ความสามารถในการกระชากลากเลื้อยหนีคู่แข่ง และส่งบอลให้เพื่อนร่วมทีมทำประตู ส่งให้เขากลายเป็นตำนานจนทุกวันนี้

    อดีตปีกทีมชาติเวลส์ ซึ่งตัดสินใจแขวนเกือกในปี 2014  และปัจจุบันทำหน้าที่กุมบังเหียนทีมชาติเวลส์ ยังคงเป็นยอดนักเตะที่ป้อนบอลให้เพื่อนร่วมทีมทำประตูได้มากที่สุด โดยยากที่จะมีใครทำสถิติแซงหน้าได้

4. คลีนชีตมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก – ปีเตอร์ เช็ก 202 คลีนชีต (เชลซี, อาร์เซน่อล)

Football-196

    ปีเตอร์ เช็ก ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้รักษาประตูที่เหนียวหนึบที่สุดในยุคของเขา และเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่ได้รับการจดจำมากที่สุดซึ่งต้องขอบคุณเฮดการ์ดที่เจ้าตัวใส่ลงสนามเป็นประจำ แต่เรื่องนี้มีเหตุผลเนื่องจากเจ้าตัวเคยประสบเหตุกะโหลกร้าวตอนที่ช่วยทีมปะทะกับ เรดดิ้ง เมื่อปี 2006

    หากมีการพิจารณาผู้รักษาประตูที่เก่งที่สุดตลอดกาลในพรีเมียร์ลีก เช็กสามารถขึ้นทำเนียบนี้ได้เลยเพราะสถิติที่เขาสร้างเอาไว้ในยิ่งใหญ่เกินจะบรรยาย คิดดูก็แล้วกันจะมีโกลคนไหนที่สามารถเก็บคลีนชีตได้ถึง 202 แมตช์ตลอดระยะเวลาที่เฝ้าเสาให้กับ เชลซี และ อาร์เซน่อล

Football-197

    คิดดูก็แล้วว่า ตำนานนายทวารทีมชาติสาธารณรัฐเช็ก เป็นผู้เล่นเพียงคนเดียวในหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลลีกสูงสุดที่ช่วยต้นสังกัดไม่เสียประตูมากกว่า 200 เกม 

    เช็ก ก้าวขึ้นสู่จุดสุดยอดตั้งแต่วัยรุ่น โดยเขาย้ายมาเล่นกับ “สิงโตน้ำเงินคราม” ในฤดูกาล 2004/05 เขาคงไม่สามารถขออะไรที่ดียิ่งกว่านี้ได้อีกแล้วกับการเริ่มต้นอาชีพในประเทศอังกฤษ โดย เช็ก ยึดมือ 1 มาจาก คาร์โล คูดิชินี่ ซึ่งตอนนั้นต้องพักฟื้นร่างกายจากอาการบาดเจ็บ ได้อย่างเหนียวแน่น แถมยังทำสถิติเก็บ 24 คลีนชีตในซีซั่นนั้นด้วย

Football-198

    ที่สำคัญสถิติ 24 คลีนชีตจากการเล่น 38 แมตช์ในฤดูกาล 2004/05 ยังไม่มีนายทวารคนไหนทำลายได้  และนั่นเป็นส่วนหนึ่งจากสถิติ 202 คลีนชีต ต้องบอกว่านี่อาจจะเป็นหนึ่งในสถิติที่ยากจะทำลายได้จริงๆ โดย ดาบิด เด เคอา มือ 1 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีสถิติใกล้เคียงแต่ก็ยังห่างไกลโดยทำ 120 คลีนชีต 

     สำหรับในยุคฟุตบอลสมัยใหม่ เช็ก ถือเป็นนายทวารที่สร้างความประทับใจมากๆ เพราะมีความสุข, แข็งแกร่ง, ใจกล้า และมีปฏิกิริยารวดเร็วว่องไว รวมทั้งยืนตำแหน่งได้ดีเยี่ยม โดยหลังจากที่ตัดสินใจแขวนถุงมือเมื่อซีซั่นที่ผ่านมา ตอนนี้เขาหันไปทำหน้าที่ใหม่ด้วยการรับงานเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคและศักยภาพคนใหม่ของ เชลซี

5. ลงเล่นในพรีเมียร์ลีกมากที่สุด – แกเร็ธ แบร์รี่ 653 เกม (แอสตัน วิลล่า, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เอฟเวอร์ตัน และ เวสต์บรอมวิช)

Football-199

     แกเร็ธ แบร์รี่ ซึ่งคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกร่วมกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2012 ปัจจุบันยังคงเป็นนักฟุตบอลที่ลงสนามในลีกสูงสุดเมืองผู้ดีมากที่สุดจำนวน 653 เกม 

    การโลดแล่นบนสังเวียนหญ้าเขียวขจีมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการเล่นให้ แอสตัน วิลล่า ซึ่งเขาใช้เวลานานถึง 12 ปี จนกระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นกัปตันทีม เขาใช้เวลาค้าแข้งในอังกฤษมาตลอดโดยเล่นในพรีเมียร์ลีกทั้งหมด 21 ฤดูกาล และเคยผ่านการลิ้มรสชาติในการเล่นระดับแชมเปี้ยนชิพตอนที่นำ เวสต์บรอม ตกชั้นในปี 2018

Football-200

    แม้ว่า แบร์รี่ จะเป็นนักฟุตบอลที่ลงเล่นในพรีเมียร์ลีกมากที่สุดก็ตาม แต่หากจำนวนซีซั่นที่เล่นในลีกสูงสุดยังคงเป็นรอง ไรอัน กิ๊กส์ ซึ่งอยู่โชว์ฝีเกือกในพรีเมียร์ลีก 22 ฤดูกาล (แบร์รี่ 21 ซีซั่น)

post

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และ “เยลโล่ วอลล์” กับเหตุผลที่ทำให้เป็นสโมสรที่เจ๋งที่สุดในโลก

Football-135

เมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา สหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือ “ยูฟ่า” เลือกให้สโมสร โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ รับรางวัล “Equal Game Award” ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับสโมสรที่เป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของการสนับสนุนความเท่าเทียมเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน  

หากถามว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ทีมฟุตบอลทีมหนึ่งจะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงด้วยฟอร์มการเล่นและบรรยากาศภายในทีมได้นั้น สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งหนึ่งคือ “แฟนบอล” อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งประเทศเยอรมัน คือหนึ่งในประเทศที่ฟุตบอลเป็นหนึ่งเดียวกับท้องถิ่นอย่างแท้จริง

และทีมที่โลกกล่าวขานว่ามีแฟนฟุตบอลที่ดีที่สุดอย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คือหนึ่งในข้อพิสูจน์จากเรื่องนี้อย่างมิอาจปฏิเสธได้

“เสือเหลือง” ไม่ใช่ทีมที่เก่งที่สุดและประสบความสำเร็จทุกปี ซ้ำยังเคยมีช่วงเวลาเลวร้ายที่เกือบแก้ไขไม่ได้ ทว่าสุดท้ายแล้วการรวมเป็นหนึ่งระหว่างสโมสรกับท้องถิ่นทำให้พวกเขากลับมามีลมหายใจและสร้างทีมใหม่จนแข็งแกร่งได้ในปัจจุบัน

และนี่คือเรื่องราวของ “เยลโล่ วอลล์” กำแพงสีเหลืองที่แข็งแกร่งที่สุดโลก อะไรทำให้มันเป็นเช่นนั้น ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

ทีมที่มีแฟนบอลมากที่สุดในโลก

เรื่องราวระหว่างสโมสรและผู้คนในเมืองของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มีจุดกำเนิดตั้งแต่ช่วงยุค 200 ปีก่อนเลยทีเดียว ในสมัยนั้นมีการสร้างโรงงานเหล็กและเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ขึ้นที่เมืองดอร์ทมุนด์ และเมืองโดยรอบในแคว้นรูห์ร และเมื่อมีงานรองรับ ผู้คนจากทุกสารทิศต่างกาแผนที่ในใจและเลือกจะมาเริ่มชีวิตใหม่ที่เมืองแห่งนี้ จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงาน 

Football-136

ราว 100 ปีหลังจากนั้นพวกเขาสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมาโดยตั้งชื่อว่า โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จุดประสงค์ในการสร้างนั้นไม่ได้มีอะไรที่ยิ่งใหญ่หรือซับซ้อน เพราะพวกเขาแค่จะคิดสร้างทีมฟุตบอลให้พนักงานในโรงงานเหล็กและเหมืองถ่านหินได้มีกิจกรรมออกกำลังกายสำหรับช่วงสุดสัปดาห์ ง่ายๆ สั้นๆ แค่นั้นเลย

การเวลาผ่านไปอีกเกือบ 100 ปี อุตสาหกรรมถ่านหินของเยอรมันถึงคราวล่มสลาย เหมืองแห่งสุดท้ายในแคว้นและของประเทศปิดตัวลงเมื่อปลายปี 2018 แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นของผู้คนในเมืองอยู่คือ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่กลายสภาพจากทีมฟุตบอลของแรงงานสู่ทีมที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนในทุกสุดสัปดาห์ และรู้ตัวอีกทีการเชียร์ฟุตบอลก็กลายเป็นวัฒนธรรมของที่นี่ไปแล้ว

ทุกครั้งที่ ดอร์ทมุนด์ เล่นเกมเหย้า ว่ากันว่าผู้คนในเมืองจะพร้อมใจกันใส่เสื้อสีดำและสีเหลืองกันทั้งเมืองราวกับผึ้งแตกรัง ทุกตรอกซอกซอยเต็มไปด้วย สติกเกอร์, ป้ายผ้า, ธง และ โลโก้ หากใครเป็นคนนอกและได้สัมผัสบรรยากาศนี้ครั้งแรกคุณอาจจะรู้สึกเหมือนตาบอดสีก็เป็นได้ … เขาว่ากันมาแบบนั้น

Football-137

ข้อชี้นำดังกล่าวตรงกับการเก็บสถิติของ CIES Football Observatory พอดี พวกเขารวบรวสถิติแฟนบอลเข้าชมเกมในสนามจาก 51 ลีกทั่วโลก ในระหว่างปี 2013-18 แล้วพบว่า ทีมเสือเหลืองคือทีมที่มีแฟนบอลเข้ามาเชียร์ในสนามมากที่สุด เฉลี่ยต่อ 1 เกม มากกว่า 80,000 คนเลยทีเดียว 

ตัวเลขทั้งหมดคือข้อมูลปลายทางที่ยืนยันถึงความทรงพลังของแฟนบอลทีมนี้ อย่างไรก็ตามเรื่องราวระหว่างทางต่างหากที่น่าชื่นชมกว่าตัวเลขที่ได้เห็นไป …

คุณให้เรา เราให้คุณ

ในช่วงยุค ’90s คือยุคแห่งความยิ่งใหญ่ของ ดอร์ทมุนด์ พวกเขาสามารถคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 2 ฤดูกาลติด (1994-95, 1995-96) นอกจากนี้ในฤดูกาล 1996-97 ยังคว้าแชมป์ยุโรปได้อีกด้วย นั่นทำให้พวกเขาอยากจะต่อยอดความยิ่งใหญ่ด้วยการเอาทีมเข้าตลาดหุ้นในปี 2000 ซึ่งถือเป็นทีมแรกในประเทศเยอรมันที่ทำแบบนี้

Football-138

การเข้าตลาดหุ้นทำให้เงินไหลมาเทมา พวกเขาเสริมทัพชุดใหญ่ด้วยนักเตะอย่าง โทมัส โรซิคกี้, แยน โคลเลอร์ และ มาร์ซิโอ อโมโรโซ่ ที่ทำให้ทีมได้แชมป์ลีกครั้งแรกในรอบ 6 ปี (ฤดูกาล 2001-02) อย่างไรก็ตามพวกเขายังไม่พอใจกับความสำเร็จที่ทีมได้เพียงอย่างเดียว ดอร์ทมุนด์ มองไปยังผู้สนับสนุนของพวกเขา และต้องการให้แฟนเข้าสนามมากกว่าเดิม อันนำมาซึ่งการขยาย “เวสฟาเล่น สตาดิโอน” ในอัฒจันทร์โซนทิศใต้ที่ชื่อ “ซุดทริบูน” เพื่อให้แฟนๆ ผู้คลั่งไคล้มีพื้นที่ปลดปล่อยในสนามเหย้า โดยเพิ่มความจุของสแตนด์ฝั่งนี้จาก 13,000 คน เป็น 25,000 ที่นั่ง และอัฒจันทร์แห่งนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของฉายา “เยลโล่ วอลล์” หรือกำแพงสีเหลืองอันเลื่องชื่อ

ทุกอย่างกำลังจะเป็นไปได้ดี ดอร์ทมุนด์ ขายตั๋วแสนถูกให้แฟนๆ เข้ามาอัดกันเต็มความจุสร้างบรรยากาศเกมเหย้าให้ขนลุกและพร้อมบดขยี้ทุกทีมที่มาเยือน ทว่าความคิดดังกล่าวเป็นการมองโลกด้านเดียว แต่ละปีผ่านไปก็มีความเสี่ยงบางประการเริ่มปรากฎตัวขึ้นทีละน้อยๆ แต่เมื่อประกอบรวมกันแล้วปัญหาเหล่านี้เล่นงานดอร์ทมุนด์เข้าอย่างจัง

ฤดูกาล 2002-03 พวกเขาไม่สามารถป้องกันแชมป์ลีกได้ และยังพลาดคว้าตั๋วไปแชมเปี้ยนส์ลีกอีกด้วย ที่หนักที่สุดคือธุรกิจถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทรุดตัวลงแบบไม่ทันให้พวกเขาได้ตั้งหลัก หลังจาก Kirch บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ประสบปัญหาทางการเงิน ส่งผลให้ดอร์ทมุนด์ขาดสภาพคล่องและประสบกับวิกฤติทางการเงินจนต้องเป็นหนี้ และเริ่มขายสตาร์ดังๆ ออกจากทีม โรซิคกี้, อโมโรโซ่ และคนอื่นๆ คือคนที่โดนขายออกไปทันทีที่ได้ราคา

“ตอนนั้นเราทุกคนกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นแบบสุดๆ ไปเลย” โรมัน ไวเดนเฟลเลอร์ ผู้รักษาประตูที่อยู่กับทีมมาอย่างยาวนานเล่าถึงสถานการณ์ในเวลานั้น

Football-139

“ตอนนั้นผู้เล่นหลายคนได้รับอนุญาตให้ย้ายทีมได้อย่างเต็มที่ และใครที่จะอยู่ต่อก็ต้องช่วยทีมด้วย ตัวผมเองนั้นยอมตัดค่าเหนื่อยตัวเองออกไป 20% ตอนนั้นผู้เล่นในทีมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวทุกคนมีเป้าหมายว่าสโมสรของเราจะต้องรอดและอยู่บนลีกสูงสุดต่อไป”

ดอร์ทมุนด์ เจอพิษการเงินเล่นงานอย่างหนัก พวกเขาเกือบโดนฟ้องล้มละลายจนต้องขาย เวสฟาเล่น สตาดิโอน ให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Molsiris ในปี 2002 เวลานั้นพวกเขาตกต่ำจนต้องขอความช่วยเหลือจาก บาเยิร์น มิวนิค ที่มอบเงินให้ 2 ล้านยูโรเพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวมาใช้หมุนเวียนเรื่องค่าเหนื่อยนักเตะอีกด้วย

เสือเหลือง เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ เอา ฮันส์ โยอาคิม วัตซ์เค่ เข้ามานั่งแท่นตำแหน่งซีอีโอในปี 2005 และเริ่มซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากแรงเสียดทานในความพยายามที่เกินตัวเมื่อครั้งอดีต ทว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการพังตั้งแต่ฐานทำให้การซ่อมแซมต้องถูกเรียกว่ารื้อใหม่ดูแล้วจะเหมาะสมกว่า 

ดอร์ทมุนด์ ต้องกระทำการที่ขัดใจแฟนบอลเป็นอย่างมาก ด้วยการขายชื่อสนามให้กับบริษัทประกันท้องถิ่น เปลี่ยนเป็น ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค ในปี 2005 รวมถึงกู้เงินอีก 79 ล้านยูโรจากบริษัท มอร์แกน สแตนลี่ย์ เพื่อนำไปใช้ไถ่ถอนสนามคืนในปี 2006 อย่างไรก็ตาม การยอมขัดใจแฟนๆ ครั้งนี้ (แถมยังต่อสัญญาให้กับ ซิกนัล อิดูน่า ใช้ชื่อแปะสนามยาวๆ ถึงปี 2021 ไปแล้ว) ก็นำมาซึ่งความมั่นคงทางการเงินที่มากขึ้น เพราะหนี้ที่กู้มาเพื่อซื้อสนามคืน อันมีกำหนดชำระคืนภายใน 15 ปีนั้น พวกเขาเคลียร์หมดภายใน 2 ปีเท่านั้น

Football-140

สโมสรทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ ด้านแฟนบอลเองก็ทำในสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้อย่างเต็มที่เช่นกัน …

ฤดูกาล 2006-07 เสือเหลือง ยุคตกต่ำต้องลงไปหนีตกชั้น พวกเขาเปลี่ยนโค้ช 3 คนในซีซั่นเดียว อย่างไรก็ตามสโมสรรอดมาได้เพราะพลังจากแฟนๆ ที่ไม่คิดจะยอมให้ทีมตายง่ายๆ แฟนๆ ของเสือเหลืองสร้างแคมเปญ “We are Borussia” ขึ้นมาเพื่อรวบรวมความช่วยเหลือจากผู้คนในเมือง, บริษัทห้างร้าน หรือแม้แต่หน่วยงานสาธารณะ เพื่อช่วยซ่อมแซมปัญหาการเงินของทีมด้วย และหนึ่งในหนทางที่ทำได้คือการช่วยกันซื้อตั๋วเข้าชมเกมเหย้าให้เต็มความจุกว่า 80,000 ที่นั่งแทบทุกเกม (เกมยุโรปจะลดจำนวนผู้ชมลงเหลือราว 65,000 ที่นั่งเนื่องจากต้องติดตั้งเก้าอี้ตามกฎของยูฟ่า) และอีกประการหนึ่งที่ทำให้แฟนบอลเข้ามาเต็มความจุได้คือตั๋วเข้าชมที่ถูกมาก 

“ทำไมตั๋วถึงถูกเหรอ? ฟุตบอลคือส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน เราอยากจะเปิดประตูรับทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโสมสร เราต้องการแฟนบอล พวกเขาไม่ได้แค่จ่ายเงินค่าตั๋วแต่จ่ายเป็นเสียงเชียร์และกำลังใจด้วย มีช่วงหนึ่งหลายทีมพยายามจะขึ้นแม้แต่ค่าเบียร์ที่ขายภายในสนาม แต่สำหรับดอร์ทมุนด์นั้นไม่มีทางเลย” คาร์สเท่น คราเมอร์ ไดเร็คเตอร์ของสโมสรชี้ชัดถึงอุดมการณ์ของทีม

Football-141

“ในแง่เศรษฐกิจการเพิ่มราคาเบียร์แก้วละ 10 เซนต์จะทำให้คุณได้กำไรมากขึ้นแน่นอน แต่เรามองว่าไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นหรอก เราขายเบียร์และได้กำไรในทุกๆ 1 ลิตร อยู่แล้วแม้จะไม่มากมายสำหรับสโมสร แต่มันจะส่งผลกับแฟนบอลโดยตรง เราพยายามคุยกับสปอนเซอร์ของทีมเพื่อให้พวกเขาเข้าใจเรื่องนี้ และมันง่ายกว่าที่จะให้พวกเขาเป็นฝ่ายจ่ายแทนที่จะเรียกร้องจากแฟนบอล”  

การเกื้อกูลกันไม่ได้เป็นเพียงคำพูดสวยหรู แต่ที่นี่มันคือสิ่งที่จับต้องได้ คุณช่วยผม ผมช่วยคุณ ทำให้สโมสรและแฟนบอลต่างมองกันและกันเป็นเหมือนครอบครัว บรรยากาศแบบนี้เองที่กลายเป็นจุดต่อยอดให้คนภายนอกหลงใหลในทีม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ด้วย

ฟุตบอลคือส่วนหนึ่งของชีวิต 

แฟนบอลของ ดอร์ทมุนด์ จงรักภักดีต่อทีมเป็นอย่างมาก แฟนๆ ของพวกเขาพร้อมจะซื้อรถตัดหญ้าที่ราคาแพงกว่าแบบปกติเพียงเพราะแค่มันมีตราสโมสรติดอยู่ และการมีแฟนบอลที่มอบหัวใจโดยไม่หวังเอากลับคืนให้แบบนี้ทำให้บรรยากาศใน ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค กลายเป็นสังเวียนหนึ่งที่แฟนบอลทั่วโลกอยากจะมาเยือนสังครั้ง

Football-142

ปัจจุบันมีแฟนบอลจากอังกฤษหลักพันคนที่เดินทางมาที่สนามแห่งนี้ในช่วงสุดสัปดาห์ พวกเขาให้เหตุผลว่าบรรยากาศการเชียร์ของ ดอร์ทมุนด์ นั้นสุดยอดมาก และค่าใช้จ่ายนั้นก็ถูกมากๆ แม้จะต้องนั่งรถไฟ จองที่พัก ค่าตั๋ว และ ค่าเบียร์ ก็ยังใช้เงินแค่ประมาณ 65 ปอนด์เท่านั้น (ค่าตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ปอนด์) หากเทียบกับที่อังกฤษ บัตรเข้าชมเกมอย่างเดียวก็เกือบ 50 ปอนด์แล้ว 

“ราคาสำหรับชมฟุตบอลที่อังกฤษสูงเกินไป แต่ที่นี่ ดอร์ทมุนด์ ทุกอย่างถูกมาก และยังได้ประสบการณ์ที่ดีกว่าเยอะจากแฟนๆ และบรรยากาศที่เหลือเชื่อ” แจ็ค (สงวนนามสกุล) แฟนคลับของ เชลซี เล่าให้กับสื่ออย่าง BBC ฟัง สิ่งที่ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวยอมเดินทางข้ามประเทศนอกจากจะเป็นสไตล์การเล่นที่ดูสนุกแล้วหลายคนยังยอมรับว่าพวกเขาอยากจะเอาตัวเข้าแทรกไปในบรรยากาศของความโกลาหลในอัฒจันทร์ฝั่งใต้ที่ชื่อว่า “ซุดทรีบูน” ซักครั้งในชีวิต

“ซุดทรีบูน” คืออัฒจันทร์โซนที่เปล่งเสียงดังที่สุดในสนาม แฟนๆ พร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองหรือสีดำเพื่อกดดันคู่แข่งตลอดทั้งเกมจนได้ฉายาว่า “เยลโล่ วอลล์” ซึ่งเป็นฝั่งอัฒจันทร์ที่ เจอร์เก้น คล็อปป์ เคยบอกว่าไม่สามารถเอาบรรยากาศในสนามใดในโลกมาเทียบได้แม้กระทั่งแอนฟิลด์ของ ลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นสโมสรปัจจุบันของเขาก็ตาม

สิ่งที่สร้างให้เกิดบรรยากาศเช่นนี้เกิดจากหลายสิ่งรวมกัน ดอร์ทมุนด์ ทำในสิ่งที่แตกต่างจากสโมสรอื่นๆ ออกไปอย่างสิ้นเชิง หากเป็นทีมอื่นพวกเขาจะกระตุ้นให้แฟนๆ มีส่วนร่วมกับการชอปปิ้งออนไลน์, อาหารและเครื่องดื่มระหว่างชมเกม รวมถึงการโพสต์ภาพและข้อความลงโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก แต่สำหรับ ดอร์ทมุนด์ ที่นี่ไม่ขายอาหารและเครื่องดื่มระหว่างที่เกมกำลังแข่ง และในระหว่างพักครึ่งพวกเขาจะให้โฆษกสนามเรียกแฟนๆ กลับมาประจำที่ให้ตรงเวลาก่อนครึ่งหลังเริ่มขึ้น และที่สวนทางกับโลกปัจจุบันที่สุดคือ แม้จะมีไวไฟฟรีให้ใช้ แต่ ดอร์ทมุนด์ วางแผนที่จะตัดสัญญาณไวไฟในสนามระหว่างเกม เพื่อให้คนดูได้เก็บมือถือและใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการชมฟุตบอลมากกว่า

Football-143

“เราคือสโมสรฟุตบอล ถ้าเราไม่รันองค์กรด้วยฟุตบอลแล้วล่ะก็ ส่วนของธุรกิจไม่มีทางเกิดขึ้นได้ จริงอยู่ที่ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟขบวนนี้ แต่แน่นอนมันไม่ใช่พลังงานที่ทำให้รถขับเคลื่อนไปข้าหน้าแต่อย่างใด” เครเมอร์ พยายามอธิบายให้ชัดเข้าไปอีก

แม้จะไม่ต้องเมาขึ้นไปเชียร์แต่เสียงเชียร์ของ เยลโล่ วอลล์ ก็ดังสนั่นแบบที่ใครก็ปฎิเสธไม่ได้ หากใครได้ดูการถ่ายทอดสดก็คงจะได้เห็นว่าแฟนบอลของดอร์ทมุนด์ คือแรงขับเคลื่อนให้ทีมเล่นในสไตล์ลุยแหลกและสู้ตายอย่างแท้จริง 

“สนามแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อฟุตบอลและเพื่อแฟนบอลให้มาปลดปล่อยตัวตนของพวกเขา การแข่งขันฟุตบอลยุโรปทุกรายการควรจัดที่นี่” นี่คือสิ่งที่หนังสือพิมพ์ The Times ให้คำจำกัดความความสุดยอดของ ซิกแนล อิดูน่า พาร์ค

มโนหรือเปล่า?

ทุกอย่างดูโลกสวยมากๆ จากคำอธิบายของ เครเมอร์ ที่เป็นผู้จัดการด้านการตลาดของทีมดอร์ทมุนด์ ทว่าในแง่ของตัวเลขล่ะมันเป็นอย่างไร?

Football-144

นับตั้งแต่การเข้ามาบริหารของ ฮันส์ โยอาคิม วัตซ์เค่ ในปี 2005 ดอร์ทมุนด์ เริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้ 120 ล้านยูโร และต้องเสียเงินปีละ 17 ล้านยูโรโดยประมาณเพื่อเป็นค่าเช่าสนามของพวกเขาเองที่ได้เอาไปจำนองไว้ นั่นจึงทำให้ช่วงแรกๆ ดอร์ทมุนด์ไม่มีเงินซื้อนักเตะชื่อดัง ทว่าสิ่งเหล่านี้แก้ไขได้

วัตซ์เค่ พลิกวิกฤติทางการเงินจนทีมกลับมาซื้อสนามคืนได้อย่างที่ได้กล่าวไปในช่วงต้น และเริ่มนำเงินไปใช้ทำในสิ่งที่เพิ่มความมั่นคงระยะยาวทั้งศูนย์ฝึกที่ทันสมัยและพัฒนาระบบอะคาเดมี่ที่ยอดเยี่ยม 

“หลังจากที่เราได้สร้างรากฐานกันใหม่เหมือนกับกดปุ่มรีเซ็ต เราเริ่มตั้งเป้าหมายกันว่าสิ่งสำคัญที่สุดหลังจากนี้คือความสำเร็จในด้านการแข่งขันโดยทีเราไม่ต้องเป็นหนี้ เราจะไม่ใช้เงินเยอะ แต่เราจะใช้มันอย่างชาญฉลาด” วัตซ์เค่ กล่าว

ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างที่เห็น ดอร์ทมุนด์ ประสบความสำเร็จเท่าที่พวกเขาจะคาดหวังได้ด้วยกำลังทรัพย์ที่มี ขณะที่ในแง่ของธุรกิจตอนนี้ หุ้นของ ดอร์ทมุนด์ ที่เคยมีราคาไม่ถึง 1 ยูโรต่อหุ้น กลับเพิ่มเป็นเกือบ 10 ยูโรต่อหุ้น และมากที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งการมีแฟนบอลเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้นมันยิ่งทำให้เสียงของแฟนบอลมีความหมาย พวกเขาสามารถคานเสียงของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ อย่างเช่นในบางกรณีที่ความเห็นไม่ตรงกัน อาทิ ผู้ถือหุ้นที่เป็นแฟนบอลอยากนำกำไรที่สโมสรได้ไปซื้อนักเตะดังๆ แต่ผู้ถือหุ้นที่เป็นห้างร้านรายใหญ่กลับคิดว่าการซื้อตัวนักเตะดังๆ เก่งๆ เป็นความเสี่ยง ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้ดอร์ทมุนด์มีสมดุลในเรื่องดุลย์อำนาจด้วย

“มันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก การมีหุ้นของสโมสรทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม” คาล เฮาซาเมน แฟนบอลชนชั้นแรงงานที่เชียร์ดอร์ทมุนด์มากว่า 30 ปีกล่าว

Football-145

ดอร์ทมุนด์ เป็นทีมที่ยึดมั่นในรากฐานของแฟนบอลของพวกเขา ซึ่งการบริหารในส่วนต่างๆ แบบพร้อมฟังกันและกัน ทำให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นแฟนบอลต่างเกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับหุ้นของสโมสรที่อยู่ในมือของพวกเขาไม่ใช่เงินทองเหมือนกับธุรกิจหุ้นตัวอื่นๆ 

BBC เคยทำสกู๊ปวีดีโอชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า ‘In Germany, the fan is king’ เพื่อพูดถึงความสำคัญของแฟนบอลในฟุตบอลลีกเยอรมันและระบบที่แตกต่างจากฟุตบอลที่อื่น แน่นอนพวกเขาเอาเรื่องสโมสรดอร์ทมุนด์และแฟนๆ มาเป็นพระเอกในสกู๊ปนั้น เพื่อยกตัวอย่างว่า “แฟนบอลเป็นราชาได้เพราะอะไร?”

ส่วนคำตอบนั้นก็อย่างที่ทุกคนได้อ่านไปทั้งหมดก่อนจะถึงบรรทัดนี้ การเกื้อกูลกันและกันของ ดอร์ทมุนด์ และแฟนๆ ของพวกเขานั่นเองที่ทำให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่เจ๋งที่สุดในโลก 

ทั้งหมดคือที่มาของสโลแกนทีมเสือเหลืองที่มีอยู่ว่า “Echte Liebe” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “รักแท้”… ไม่ต้องสงสัยเลยว่า รักแท้ ในประโยคดังกล่าวสโมสรพยายามจะมอบมันให้กับใคร

สตรอยเทล พริเพียต : สโมสรดาวรุ่งที่ต้องหมดอนาคตเพราะ “เชอร์โนบิล”

Football-7

“การระเบิดของนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล บางทีอาจจะเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สหภาพโซเวียตต้องแตกในอีก 5 ปีต่อมา” มีฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2006 

ราวตีหนึ่งของคืนวันที่ 25 เมษายน รอยต่อเช้ามืดของวันที่ 26 เมษายน 1986 ขณะที่หลายคนกำลังหลับใหลอยู่บนเตียงอุ่นๆ ท่ามกลางสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ ได้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นที่เตาปฎิกรณ์หมายเลข 4 ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองเชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของยูเครน

แรงระเบิดในครั้งนั้น คร่าชีวิตผู้คนทันที 31 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 100 คน และยังปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมาในระดับที่สูงกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาถึง 400 เท่า ซึ่งทำให้ผู้ได้รับรังสีป่วยเป็นโรคมะเร็งในเวลาต่อมาอีกราว 4,000-6,000 คน

นอกจากทำลายชีวิตและผู้คนในเชอร์โนบิล โศกนาฎกรรมครั้งนี้ ยังทำลายอนาคตของ สตรอยเทล พริเพียต หนึ่งในสโมสรดาวรุ่งของยูเครนในยุคนั้นลงอย่างราบคาบ

เมืองแห่งอนาคต

ในปี 1954 ห่างจากกรุงมอสโก เมืองหลวงของสหภาพโซเวียตออกไปราว 60 กิโลเมตร โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออบนิงค์ได้เริ่มทำการ นี่คือโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โรงแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

Football-8

ภายใต้บรรยากาศของสงครามเย็น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาและโซเวียต ต่างชิงดีชิงเด่นกันขึ้นมาเป็นเจ้ามหาอำนาจของโลก นอกจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เทคโนโลยีเรื่องพลังงาน ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาแข่งขันกัน และดูเหมือนว่าโซเวียตจะรุดหน้าไปก่อน จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

โซเวียตได้ดำเนินแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงยูเครนที่ตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต พวกเขากำหนดไว้ที่พื้นที่หนึ่งที่ห่างจากเมืองเคียฟออกไปราว 100 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเชอร์โนบิลราว 15 กิโลเมตร

การก่อสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เลนิน เมมโมเรียล 6 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่ 9 ของโซเวียตจึงได้เริ่มขึ้น ณ ที่แห่งนี้ในปี 1970 และมีแผนจะสร้างเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ถึง 6 เตา

แน่นอนว่าการก่อสร้าง การตรวจสอบ การบำรุง ไปจนถึงการวิจัยและการพัฒนา จำเป็นต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้โซเวียตได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมารองรับ มันตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าราว 4 กิโลเมตร และเมือง “พริเพียต” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา

Football-9

เพียงไม่กี่ปีหลังก่อตั้ง พริเพียต ได้กลายเป็นเมืองแห่งอนาคต ประชากรของเมืองส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 26 ปีเท่านั้น ภายในเมืองยังมีโรงเรียนที่ทันสมัย โรงยิม สถานรับเลี้ยงเด็ก สวนสาธารณะ โรงภาพยนตร์ รวมไปถึงอพาร์ทเมนต์ขนาดใหญ่ ไม่ต่างจากเมืองขนาดใหญ่ทั่วไป

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไป คือ สโมสรฟุตบอลอาชีพ คนในเมืองมีความฝันว่าจะมีสโมสรที่เป็นตัวแทนของเมือง และในที่สุดช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ก็ได้มีสโมสรฟุตบอลเกิดขึ้นในเมืองนี้

ชื่อของมันคือ สตรอยเทล พริเพียต

สโมสรของคนงาน

“ในความรู้สึกแบบเข้มงวด ทุกสโมสร (ในสหภาพโซเวียต) เป็นทรัพย์สินของรัฐ และมักจะเกี่ยวข้องกับกระทรวง, สหภาพแรงงาน หรือโรงงานพิเศษ” มานูเอล เวิร์ธ นักเขียนนิตยสารฟอร์บส์ และบัณฑิตปริญญาเอกที่ทำวิจัยเกี่ยวกับฟุตบอลในสหภาพโซเวียตที่มหาวิทยาลัยคิง คอจเลจ อธิบายในงานวิจัยของเขา

Football-10

เช่นกันกับ สตรอยเทล เมื่อหัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้สโมสรแห่งนี้เกิดขึ้นมา คือ วาซิลี คิซิมา โทรฟิโมวิช สมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ และเป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพในรัสเซีย

แม้ว่าโทรฟิโมวิช จะไม่ได้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมาณู แต่เขาก็เป็นแกนหลักในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการให้ฟุตบอลเข้ามาทำให้เมืองนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น

“เรามีคนอยู่ 4 กะ ไม่มีที่ผ่อนคลายที่ไหน นอกจากการไปดูฟุตบอลและดื่มเบียร์ซักขวด” โทรฟิโมวิช กล่าว

ตามภาษารัสเซีย สตรอยเทล แปลว่า “คนงาน” หรือ “ช่างก่อสร้าง” ซึ่งก็ตรงตามความหมาย เมื่อสโมสรประกอบด้วยเหล่าพนักงานในโรงงานไฟฟ้าที่เชอร์โนบิล และนักเตะที่ดึงมาจากชิสโตกาวอสกา เมืองที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไปทางใต้ราว 3-4 กิโลเมตร

ในปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่ พริเพียต ได้รับการระบุอย่างเป็นทางการในฐานะ “เมือง” แห่งสาธารณรัฐยูเครนของโซเวียต สตรอยเทล ก็เริ่มขยับขยายขุมกำลัง เมื่อได้นักเตะอย่าง สตานิสลาฟ กอนชาเรนโก มาร่วมทีม เขาคือนักเตะดังที่เคยเล่นให้กับ สปาร์ตา เคียฟ และ เทมโป มาก่อน

Football-11

และในปี 1981 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองที่เตาปฏิกรณ์แห่งที่ 3 สร้างเสร็จสมบูรณ์ สตรอยเทล ก็มีโอกาสได้ต้อนรับอนาโตเลีย เชเปล ผู้จัดการทีมคนใหม่ ที่มีดีกรีเป็นอดีตนักเตะทีมชาติโซเวียต และเคยเล่นให้กับทีมอย่างดินาโม เคียฟ, ชอร์โนโมเร็ต โอเดซา และ ดินาโม มอสโก

เขาเคยคว้าแชมป์ โซเวียต ซูพรีมลีก มาแล้ว 2 ครั้ง และ โซเวียต ซูพรีมคัพ มาแล้ว 1 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในการสร้างทีมของโทรฟิโมวิช ประธานสโมสร ที่แต่งตั้งผู้จัดการทีมที่มีชื่อเสียงขนาดนี้เข้ามาคุมทีม

ขณะเดียวกันปี 1981 ยังเป็นอีกหนึ่งปีสำคัญของสตรอยเทล เมื่อทีมที่นำโดย วิคตอร์ โฟโนมาเรฟ อดีตกัปตัน ชิสโตกาวอสกา ได้เข้าไปเล่นในระบบลีกของสหภาพโซเวียตได้เป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้สร้างความยิ่งใหญ่ในระดับภูมิภาค ด้วยการคว้าแชมป์ระดับสมัครเล่น และทัวร์นาเมนต์ในเคียฟมาก่อน

เส้นทางสู่ลีกอาชีพของสหภาพโซเวียตได้ทอดยาวมาถึงสโมสรแห่งเมืองปรมาณูแล้ว

ผจญภัยในลีกโซเวียต 

ตามระบบของลีกโซเวียต ในทศวรรษที่ 1970-1980  พวกแบ่งออกเป็น 3 ระดับใหญ่ๆ คือ ซูพรีมลีก, ดิวิชั่น 1 และ ดิวิชั่น 2 โดยต่ำว่าดิวิชั่น 2 จะเป็นลีก ที่แบ่งไปตามโซน เช่น รัสเซียโซน ยูเครนโซน โดยแชมป์แต่ละโซน จะได้สิทธิ์ลงแข่งในลีกเพื่อหาผู้ชนะได้โควต้าเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในดิวิชั่น 2

Football-12

ในขณะที่ สตรอยเทล เริ่มต้นในลีกระดับ Kollektivov Fizicheskoi Kultury  หรือเรียกสั้นๆว่า KFK มัน คือ ลีกระดับภูมิภาคที่แบ่งไปตามพื้นที่ สำหรับพวกเขาอยู่ในลีกภูมิภาค เคียฟ ออฟลาสต์ ที่แชมป์จะได้สิทธิ์เข้าไปเล่นในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติ ซึ่งเข้าไปพบกับแชมป์ KFK โซนอื่น โดยผู้ชนะในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติจะถูกเรียกว่า Team of Master ที่จะเปลี่ยนสถานะเป็นทีมอาชีพเต็มตัว และเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในดิวิชั่น 2

สตรอยเทล ออกสตาร์ทอย่างช้าๆ และพัฒนาผลงานไปพร้อมกับเมือง พวกเขาเริ่มต้นด้วยการคว้าอันดับ 5 ของตารางในปี 1981 แต่ก็ตกมาอันดับสุดท้ายของลีกในฤดูกาลถัดมา หลังต้องเสีย กอนชาเรนโก ไปให้ทีม Kirovogradskuyu  Zvezdu แต่ถึงอย่างนั้นในทัวร์นาเมนต์ของเคียฟ พวกเขาก็สามารถคว้าแชมป์เคียฟ แชมเปียนชิฟ มาครองได้เป็นสมัยที่ 2 หลังจากเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์ในปีก่อน

Football-13

และในปี 1983 ที่มีการเปิดตัวเตาปฎิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล พวกเขาจบในอันดับที่ดีขึ้นด้วยการคว้าอันดับ 6 ของตาราง และสามารถคว้าแชมป์ระดับภูมิภาคของเคียฟเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน จากนั้นในปี 1984 ทีมเริ่มคล้ายกับสโมสรระดับอาชีพมากขึ้น เมื่อสตรอยเทล ได้สร้างศูนย์ฝึกเยาวชน และมีทีมเยาวชนลงแข่งในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ

Football-14

จนกระทั่งปี 1985 จะกลายเป็นปีทองของสตรอยเทล อย่างแท้จริง เมื่อพวกเขาสามารถคว้ารองแชมป์ของลีก KFK ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดที่เคยทำได้ และมีแต้มตามหลัง มาชินอสตรอยเทลี ทีมแชมป์ที่จะได้ลุ้นลงแข่งคว้าตั๋วขึ้นไปเล่นในลีกอาชีพเพียงแค่ 4 คะแนน นอกจากนั้นในปีดังกล่าว พวกเขายังสร้างสถิติใหม่ของสโมสรขึ้น ด้วยการไล่ถล่ม โลโคโมทีฟ สนาเมนกาถึง 13 ลูก

เมื่อทีมกำลังขาขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องมีสนามที่เหมาะสมสำหรับลงเล่น โดยขณะนั้น สนามของพวกเขาค่อนข้างเล็ก และเป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ ทำให้โทรฟิโมวิช เตรียมสร้างสนามใหม่ให้ทีมโดยมีชื่อว่า อแวนฮาร์ด สเตเดียม ที่จะเป็นสนามฟุตบอลโดยเฉพาะ และมีความจุถึง 5,000 ที่นั่ง

Football-15
Football-16

มันถูกกำหนดไว้ว่าจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 1986 ซึ่งตรงกับวันแรงงานของโซเวียต ทำให้มันดูเหมือนเป็นของขวัญที่รัฐมอบให้กับประชาชนในเมืองพริเพียต ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการก่อสร้างเตาปฎิกรณ์หมายเลข 5

“สนามกีฬาแห่งใหม่มีความสำคัญต่อผู้คนเหมือนกับเตาปฎิกรณ์แห่งใหม่” โทรฟิโมวิชกล่าว

แต่มันก็ไม่เคยได้เปิดใช้…ตลอดกาล

หายนะพังเมือง 

25 เมษายน 1986 ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังทดสอบระบบหล่อเย็นของเตาปฎิกรณ์หมายเลข 4 ว่าสามารถทำงานหากไม่มีพลังงานไฟฟ้าได้หรือไม่ แต่ระหว่างการทดสอบ แรงดันไอน้ำได้สูงขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน ทำให้เกิดความร้อนจนแกนปฎิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย และเกิดระเบิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 26 เมษายน

Football-17

หลังเกิดเหตุโซเวียตพยายามปิดข่าว เนื่องจากไม่อยากให้ทั้งโลกได้เห็นความผิดพลาดของพวกเขา จนในวันที่ 28 เมษายน จึงได้มีการแถลงข่าวสั้นๆ ที่ทำให้ได้รู้ว่าแร่ยูเรเนียมราว 190 ตันได้ลอยสู่ชั้นบรรยากาศ  กระจายปกคลุมทางตะวันตกของโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก และยุโรปเหนือเป็นพื้นที่กว่า 200,000 ตารางกิโลเมตร ทำให้ต้องอพยพคนกว่า 336,000 คนออกจากพื้นที่ ในขณะที่รัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ถูกประกาศให้เป็นเขตอันตราย

แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 31 ราย และบาดเจ็บกว่า 100 คน มีรายงานจากคณะกรรมการวิทยาศาสตร์เรื่องผลกระทบจากรังสีปรมาณูของสหประชาชาติ ระบุว่ามีเด็กและวัยรุ่นกว่า 6,000 คน ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์จากการได้รับกัมมันตภาพรังสีจากเหตุการณ์นั้น

อันที่จริงในวันที่เกิดเหตุระเบิด สตรอยเทล ที่มีคิวเปิดบ้านรับการมาเยือนของ Mashinostroiteli  ในศึกภูมิภาคเคียฟ คัพ รอบรองชนะเลิศ แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกการแข่งขัน โดยมีเรื่องเล่าว่าขณะที่ กำลังฝึกซ้อมที่สนามก่อนเกม ที่ห่างจากเมืองพรีเพียตราว 90 กิโลเมตร สนามซ้อมของพวกเขาก็กลายเป็นลานจอดของเฮลิคอปเตอร์ของทหารที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าพวกเขาไม่ต้องเดินทางไปเมืองพริเพียตอีกแล้ว

สตรอยเทล จำเป็นต้องถอนทีมจากการแข่งขันใน KFK ลีกฤดูกาล 1986 ความฝันของพวกเขาที่จะเป็นสโมสรอาชีพของเมืองแห่งนี้ต้องพังทลายลง เมื่อ 3 วันหลังเหตุระเบิด ชาวเมืองพริเพียต ที่เหลืออยู่ต้องอพยพไปตั้งรกรากที่เมืองสลาวูเทียช  ที่ห่างออกไปจากเชอร์โนบิลราว 45 กิโลเมตร

Football-18

พวกเขายังมีความหวังต่อสโมสรฟุตบอลของเมือง แม้จะต้องย้ายถิ่นที่อยู่ แต่สตรอยเทล ก็ยังพยายามไปต่อ พวกเขาเปลี่ยนชื่อทีมมาเป็น สตรอยเทล สลาวูเทียช และลงแข่งขันทันทีในฤดูกาล 1987

อย่างไรก็ดีเนื่องจากในเมืองสลาวูเทียช ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อม ทำให้ทีมประสบปัญหาอย่างมากในช่วงแรก แต่ถึงอย่างนั้นทีมก็ทำผลงานได้ใกล้เคียงก่อนเกิดเหตุระเบิด ด้วยการจบในอันดับ 3 ใน KFK โซน 4

ฤดูกาลต่อมาพวกเขากลับมาเล่นใน KFK โซน 3 อีกครั้ง แต่ก็ทำผลงานได้ไม่ดีนัก จบในอันดับ 8 ของตารางจาก 12 ทีม และนั่นก็เป็นฤดูกาลสุดท้ายของพวกเขา เมื่อทีมรู้ดีว่าไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว

ชาวเมืองและนักเตะที่อพยพจากพริเพียต ต้องพยายามอย่างหนักในการปรับตัวให้เข้ากับเมืองใหม่ มันจึงเป็นเรื่องยากเกินไปที่จะขับเคลื่อน สตรอยเทลไปด้วยกัน ท้ายที่สุดพวกเขาโยนผ้ายอมแพ้ และ เอฟเค สตรอยเทล สลาวูเทียช ก็ประกาศยุบทีมอย่างเป็นทางการหลังจบฤดูกาล 1988

อนุสรณ์สถานแห่งเชอร์โนบิล 

แม้ว่าชาวเมืองสลาวูเทียชจะมีทีมฟุตบอลถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้งในนาม เอฟซี สลาวูเทียช ในปี 1994 แต่ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทีมเก่าอย่าง สตรอยเทล แต่อย่างใด มันโลดแล่นอยู่ในลีกระดับสองของยูเครนเพียงชั่วเวลาสั้นๆ ก่อนจะยุบทีมไปในปี 1998

Football-19

Football-20

ในขณะที่เมืองพริเพียต เมืองเก่าของพวกเขา แม้จะผ่านเหตุการณ์มานานกว่า 30 ปี ก็ยังได้รับสถานะเป็นเขตอันตราย เนื่องจากคาดการณ์ว่าพื้นที่รอบๆโรงงานเชอร์โนบิล จะไม่สามารถอาศัยได้อีกราว 20,000 ปี

มันได้กลายเป็นเมืองร้างที่เต็มไปด้วยต้นไม้และสัตว์ป่า แม้ว่าเมื่อปี 2015 รัฐบาลยูเครน จะเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่การไปที่เมืองแห่งนี้ต้องมีไกด์นำทาง หรือเจ้าหน้าที่ไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวสัมผัสกัมมันตภาพรังสีในระดับสูง

ในขณะที่ อแวนฮาร์ด สเตเดียม สนามใหม่ของสตรอยเทล ก็ไม่เคยถูกเปิดใช้อีกเลย และถูกทิ้งร้างนับตั้งแต่วันเกิดอุบัติเหตุ ตอนนี้มันถูกปกคลุมไปด้วยป่ารกชัฏและทำหน้าที่เป็นเพียงแลนด์มาร์คสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น

Football-21
Football-22

Football-23

สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความทรงจำในฐานะการทำลายล้างของพลังงานนิวเคลียร์ และสิ่งเตือนใจว่าครั้งหนึ่งเชอร์โนบิล ไม่เพียงทำลายชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่ยังได้ทำลายความหวังของสโมสรฟุตบอลเล็กๆหนึ่งจนพังพินาศ