post

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และ “เยลโล่ วอลล์” กับเหตุผลที่ทำให้เป็นสโมสรที่เจ๋งที่สุดในโลก

Football-135

เมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา สหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือ “ยูฟ่า” เลือกให้สโมสร โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ รับรางวัล “Equal Game Award” ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับสโมสรที่เป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของการสนับสนุนความเท่าเทียมเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน  

หากถามว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ทีมฟุตบอลทีมหนึ่งจะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงด้วยฟอร์มการเล่นและบรรยากาศภายในทีมได้นั้น สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งหนึ่งคือ “แฟนบอล” อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งประเทศเยอรมัน คือหนึ่งในประเทศที่ฟุตบอลเป็นหนึ่งเดียวกับท้องถิ่นอย่างแท้จริง

และทีมที่โลกกล่าวขานว่ามีแฟนฟุตบอลที่ดีที่สุดอย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คือหนึ่งในข้อพิสูจน์จากเรื่องนี้อย่างมิอาจปฏิเสธได้

“เสือเหลือง” ไม่ใช่ทีมที่เก่งที่สุดและประสบความสำเร็จทุกปี ซ้ำยังเคยมีช่วงเวลาเลวร้ายที่เกือบแก้ไขไม่ได้ ทว่าสุดท้ายแล้วการรวมเป็นหนึ่งระหว่างสโมสรกับท้องถิ่นทำให้พวกเขากลับมามีลมหายใจและสร้างทีมใหม่จนแข็งแกร่งได้ในปัจจุบัน

และนี่คือเรื่องราวของ “เยลโล่ วอลล์” กำแพงสีเหลืองที่แข็งแกร่งที่สุดโลก อะไรทำให้มันเป็นเช่นนั้น ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

ทีมที่มีแฟนบอลมากที่สุดในโลก

เรื่องราวระหว่างสโมสรและผู้คนในเมืองของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มีจุดกำเนิดตั้งแต่ช่วงยุค 200 ปีก่อนเลยทีเดียว ในสมัยนั้นมีการสร้างโรงงานเหล็กและเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ขึ้นที่เมืองดอร์ทมุนด์ และเมืองโดยรอบในแคว้นรูห์ร และเมื่อมีงานรองรับ ผู้คนจากทุกสารทิศต่างกาแผนที่ในใจและเลือกจะมาเริ่มชีวิตใหม่ที่เมืองแห่งนี้ จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงาน 

Football-136

ราว 100 ปีหลังจากนั้นพวกเขาสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมาโดยตั้งชื่อว่า โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จุดประสงค์ในการสร้างนั้นไม่ได้มีอะไรที่ยิ่งใหญ่หรือซับซ้อน เพราะพวกเขาแค่จะคิดสร้างทีมฟุตบอลให้พนักงานในโรงงานเหล็กและเหมืองถ่านหินได้มีกิจกรรมออกกำลังกายสำหรับช่วงสุดสัปดาห์ ง่ายๆ สั้นๆ แค่นั้นเลย

การเวลาผ่านไปอีกเกือบ 100 ปี อุตสาหกรรมถ่านหินของเยอรมันถึงคราวล่มสลาย เหมืองแห่งสุดท้ายในแคว้นและของประเทศปิดตัวลงเมื่อปลายปี 2018 แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นของผู้คนในเมืองอยู่คือ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่กลายสภาพจากทีมฟุตบอลของแรงงานสู่ทีมที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนในทุกสุดสัปดาห์ และรู้ตัวอีกทีการเชียร์ฟุตบอลก็กลายเป็นวัฒนธรรมของที่นี่ไปแล้ว

ทุกครั้งที่ ดอร์ทมุนด์ เล่นเกมเหย้า ว่ากันว่าผู้คนในเมืองจะพร้อมใจกันใส่เสื้อสีดำและสีเหลืองกันทั้งเมืองราวกับผึ้งแตกรัง ทุกตรอกซอกซอยเต็มไปด้วย สติกเกอร์, ป้ายผ้า, ธง และ โลโก้ หากใครเป็นคนนอกและได้สัมผัสบรรยากาศนี้ครั้งแรกคุณอาจจะรู้สึกเหมือนตาบอดสีก็เป็นได้ … เขาว่ากันมาแบบนั้น

Football-137

ข้อชี้นำดังกล่าวตรงกับการเก็บสถิติของ CIES Football Observatory พอดี พวกเขารวบรวสถิติแฟนบอลเข้าชมเกมในสนามจาก 51 ลีกทั่วโลก ในระหว่างปี 2013-18 แล้วพบว่า ทีมเสือเหลืองคือทีมที่มีแฟนบอลเข้ามาเชียร์ในสนามมากที่สุด เฉลี่ยต่อ 1 เกม มากกว่า 80,000 คนเลยทีเดียว 

ตัวเลขทั้งหมดคือข้อมูลปลายทางที่ยืนยันถึงความทรงพลังของแฟนบอลทีมนี้ อย่างไรก็ตามเรื่องราวระหว่างทางต่างหากที่น่าชื่นชมกว่าตัวเลขที่ได้เห็นไป …

คุณให้เรา เราให้คุณ

ในช่วงยุค ’90s คือยุคแห่งความยิ่งใหญ่ของ ดอร์ทมุนด์ พวกเขาสามารถคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 2 ฤดูกาลติด (1994-95, 1995-96) นอกจากนี้ในฤดูกาล 1996-97 ยังคว้าแชมป์ยุโรปได้อีกด้วย นั่นทำให้พวกเขาอยากจะต่อยอดความยิ่งใหญ่ด้วยการเอาทีมเข้าตลาดหุ้นในปี 2000 ซึ่งถือเป็นทีมแรกในประเทศเยอรมันที่ทำแบบนี้

Football-138

การเข้าตลาดหุ้นทำให้เงินไหลมาเทมา พวกเขาเสริมทัพชุดใหญ่ด้วยนักเตะอย่าง โทมัส โรซิคกี้, แยน โคลเลอร์ และ มาร์ซิโอ อโมโรโซ่ ที่ทำให้ทีมได้แชมป์ลีกครั้งแรกในรอบ 6 ปี (ฤดูกาล 2001-02) อย่างไรก็ตามพวกเขายังไม่พอใจกับความสำเร็จที่ทีมได้เพียงอย่างเดียว ดอร์ทมุนด์ มองไปยังผู้สนับสนุนของพวกเขา และต้องการให้แฟนเข้าสนามมากกว่าเดิม อันนำมาซึ่งการขยาย “เวสฟาเล่น สตาดิโอน” ในอัฒจันทร์โซนทิศใต้ที่ชื่อ “ซุดทริบูน” เพื่อให้แฟนๆ ผู้คลั่งไคล้มีพื้นที่ปลดปล่อยในสนามเหย้า โดยเพิ่มความจุของสแตนด์ฝั่งนี้จาก 13,000 คน เป็น 25,000 ที่นั่ง และอัฒจันทร์แห่งนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของฉายา “เยลโล่ วอลล์” หรือกำแพงสีเหลืองอันเลื่องชื่อ

ทุกอย่างกำลังจะเป็นไปได้ดี ดอร์ทมุนด์ ขายตั๋วแสนถูกให้แฟนๆ เข้ามาอัดกันเต็มความจุสร้างบรรยากาศเกมเหย้าให้ขนลุกและพร้อมบดขยี้ทุกทีมที่มาเยือน ทว่าความคิดดังกล่าวเป็นการมองโลกด้านเดียว แต่ละปีผ่านไปก็มีความเสี่ยงบางประการเริ่มปรากฎตัวขึ้นทีละน้อยๆ แต่เมื่อประกอบรวมกันแล้วปัญหาเหล่านี้เล่นงานดอร์ทมุนด์เข้าอย่างจัง

ฤดูกาล 2002-03 พวกเขาไม่สามารถป้องกันแชมป์ลีกได้ และยังพลาดคว้าตั๋วไปแชมเปี้ยนส์ลีกอีกด้วย ที่หนักที่สุดคือธุรกิจถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทรุดตัวลงแบบไม่ทันให้พวกเขาได้ตั้งหลัก หลังจาก Kirch บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ประสบปัญหาทางการเงิน ส่งผลให้ดอร์ทมุนด์ขาดสภาพคล่องและประสบกับวิกฤติทางการเงินจนต้องเป็นหนี้ และเริ่มขายสตาร์ดังๆ ออกจากทีม โรซิคกี้, อโมโรโซ่ และคนอื่นๆ คือคนที่โดนขายออกไปทันทีที่ได้ราคา

“ตอนนั้นเราทุกคนกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นแบบสุดๆ ไปเลย” โรมัน ไวเดนเฟลเลอร์ ผู้รักษาประตูที่อยู่กับทีมมาอย่างยาวนานเล่าถึงสถานการณ์ในเวลานั้น

Football-139

“ตอนนั้นผู้เล่นหลายคนได้รับอนุญาตให้ย้ายทีมได้อย่างเต็มที่ และใครที่จะอยู่ต่อก็ต้องช่วยทีมด้วย ตัวผมเองนั้นยอมตัดค่าเหนื่อยตัวเองออกไป 20% ตอนนั้นผู้เล่นในทีมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวทุกคนมีเป้าหมายว่าสโมสรของเราจะต้องรอดและอยู่บนลีกสูงสุดต่อไป”

ดอร์ทมุนด์ เจอพิษการเงินเล่นงานอย่างหนัก พวกเขาเกือบโดนฟ้องล้มละลายจนต้องขาย เวสฟาเล่น สตาดิโอน ให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Molsiris ในปี 2002 เวลานั้นพวกเขาตกต่ำจนต้องขอความช่วยเหลือจาก บาเยิร์น มิวนิค ที่มอบเงินให้ 2 ล้านยูโรเพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวมาใช้หมุนเวียนเรื่องค่าเหนื่อยนักเตะอีกด้วย

เสือเหลือง เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ เอา ฮันส์ โยอาคิม วัตซ์เค่ เข้ามานั่งแท่นตำแหน่งซีอีโอในปี 2005 และเริ่มซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากแรงเสียดทานในความพยายามที่เกินตัวเมื่อครั้งอดีต ทว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการพังตั้งแต่ฐานทำให้การซ่อมแซมต้องถูกเรียกว่ารื้อใหม่ดูแล้วจะเหมาะสมกว่า 

ดอร์ทมุนด์ ต้องกระทำการที่ขัดใจแฟนบอลเป็นอย่างมาก ด้วยการขายชื่อสนามให้กับบริษัทประกันท้องถิ่น เปลี่ยนเป็น ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค ในปี 2005 รวมถึงกู้เงินอีก 79 ล้านยูโรจากบริษัท มอร์แกน สแตนลี่ย์ เพื่อนำไปใช้ไถ่ถอนสนามคืนในปี 2006 อย่างไรก็ตาม การยอมขัดใจแฟนๆ ครั้งนี้ (แถมยังต่อสัญญาให้กับ ซิกนัล อิดูน่า ใช้ชื่อแปะสนามยาวๆ ถึงปี 2021 ไปแล้ว) ก็นำมาซึ่งความมั่นคงทางการเงินที่มากขึ้น เพราะหนี้ที่กู้มาเพื่อซื้อสนามคืน อันมีกำหนดชำระคืนภายใน 15 ปีนั้น พวกเขาเคลียร์หมดภายใน 2 ปีเท่านั้น

Football-140

สโมสรทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ ด้านแฟนบอลเองก็ทำในสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้อย่างเต็มที่เช่นกัน …

ฤดูกาล 2006-07 เสือเหลือง ยุคตกต่ำต้องลงไปหนีตกชั้น พวกเขาเปลี่ยนโค้ช 3 คนในซีซั่นเดียว อย่างไรก็ตามสโมสรรอดมาได้เพราะพลังจากแฟนๆ ที่ไม่คิดจะยอมให้ทีมตายง่ายๆ แฟนๆ ของเสือเหลืองสร้างแคมเปญ “We are Borussia” ขึ้นมาเพื่อรวบรวมความช่วยเหลือจากผู้คนในเมือง, บริษัทห้างร้าน หรือแม้แต่หน่วยงานสาธารณะ เพื่อช่วยซ่อมแซมปัญหาการเงินของทีมด้วย และหนึ่งในหนทางที่ทำได้คือการช่วยกันซื้อตั๋วเข้าชมเกมเหย้าให้เต็มความจุกว่า 80,000 ที่นั่งแทบทุกเกม (เกมยุโรปจะลดจำนวนผู้ชมลงเหลือราว 65,000 ที่นั่งเนื่องจากต้องติดตั้งเก้าอี้ตามกฎของยูฟ่า) และอีกประการหนึ่งที่ทำให้แฟนบอลเข้ามาเต็มความจุได้คือตั๋วเข้าชมที่ถูกมาก 

“ทำไมตั๋วถึงถูกเหรอ? ฟุตบอลคือส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน เราอยากจะเปิดประตูรับทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโสมสร เราต้องการแฟนบอล พวกเขาไม่ได้แค่จ่ายเงินค่าตั๋วแต่จ่ายเป็นเสียงเชียร์และกำลังใจด้วย มีช่วงหนึ่งหลายทีมพยายามจะขึ้นแม้แต่ค่าเบียร์ที่ขายภายในสนาม แต่สำหรับดอร์ทมุนด์นั้นไม่มีทางเลย” คาร์สเท่น คราเมอร์ ไดเร็คเตอร์ของสโมสรชี้ชัดถึงอุดมการณ์ของทีม

Football-141

“ในแง่เศรษฐกิจการเพิ่มราคาเบียร์แก้วละ 10 เซนต์จะทำให้คุณได้กำไรมากขึ้นแน่นอน แต่เรามองว่าไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นหรอก เราขายเบียร์และได้กำไรในทุกๆ 1 ลิตร อยู่แล้วแม้จะไม่มากมายสำหรับสโมสร แต่มันจะส่งผลกับแฟนบอลโดยตรง เราพยายามคุยกับสปอนเซอร์ของทีมเพื่อให้พวกเขาเข้าใจเรื่องนี้ และมันง่ายกว่าที่จะให้พวกเขาเป็นฝ่ายจ่ายแทนที่จะเรียกร้องจากแฟนบอล”  

การเกื้อกูลกันไม่ได้เป็นเพียงคำพูดสวยหรู แต่ที่นี่มันคือสิ่งที่จับต้องได้ คุณช่วยผม ผมช่วยคุณ ทำให้สโมสรและแฟนบอลต่างมองกันและกันเป็นเหมือนครอบครัว บรรยากาศแบบนี้เองที่กลายเป็นจุดต่อยอดให้คนภายนอกหลงใหลในทีม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ด้วย

ฟุตบอลคือส่วนหนึ่งของชีวิต 

แฟนบอลของ ดอร์ทมุนด์ จงรักภักดีต่อทีมเป็นอย่างมาก แฟนๆ ของพวกเขาพร้อมจะซื้อรถตัดหญ้าที่ราคาแพงกว่าแบบปกติเพียงเพราะแค่มันมีตราสโมสรติดอยู่ และการมีแฟนบอลที่มอบหัวใจโดยไม่หวังเอากลับคืนให้แบบนี้ทำให้บรรยากาศใน ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค กลายเป็นสังเวียนหนึ่งที่แฟนบอลทั่วโลกอยากจะมาเยือนสังครั้ง

Football-142

ปัจจุบันมีแฟนบอลจากอังกฤษหลักพันคนที่เดินทางมาที่สนามแห่งนี้ในช่วงสุดสัปดาห์ พวกเขาให้เหตุผลว่าบรรยากาศการเชียร์ของ ดอร์ทมุนด์ นั้นสุดยอดมาก และค่าใช้จ่ายนั้นก็ถูกมากๆ แม้จะต้องนั่งรถไฟ จองที่พัก ค่าตั๋ว และ ค่าเบียร์ ก็ยังใช้เงินแค่ประมาณ 65 ปอนด์เท่านั้น (ค่าตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ปอนด์) หากเทียบกับที่อังกฤษ บัตรเข้าชมเกมอย่างเดียวก็เกือบ 50 ปอนด์แล้ว 

“ราคาสำหรับชมฟุตบอลที่อังกฤษสูงเกินไป แต่ที่นี่ ดอร์ทมุนด์ ทุกอย่างถูกมาก และยังได้ประสบการณ์ที่ดีกว่าเยอะจากแฟนๆ และบรรยากาศที่เหลือเชื่อ” แจ็ค (สงวนนามสกุล) แฟนคลับของ เชลซี เล่าให้กับสื่ออย่าง BBC ฟัง สิ่งที่ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวยอมเดินทางข้ามประเทศนอกจากจะเป็นสไตล์การเล่นที่ดูสนุกแล้วหลายคนยังยอมรับว่าพวกเขาอยากจะเอาตัวเข้าแทรกไปในบรรยากาศของความโกลาหลในอัฒจันทร์ฝั่งใต้ที่ชื่อว่า “ซุดทรีบูน” ซักครั้งในชีวิต

“ซุดทรีบูน” คืออัฒจันทร์โซนที่เปล่งเสียงดังที่สุดในสนาม แฟนๆ พร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองหรือสีดำเพื่อกดดันคู่แข่งตลอดทั้งเกมจนได้ฉายาว่า “เยลโล่ วอลล์” ซึ่งเป็นฝั่งอัฒจันทร์ที่ เจอร์เก้น คล็อปป์ เคยบอกว่าไม่สามารถเอาบรรยากาศในสนามใดในโลกมาเทียบได้แม้กระทั่งแอนฟิลด์ของ ลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นสโมสรปัจจุบันของเขาก็ตาม

สิ่งที่สร้างให้เกิดบรรยากาศเช่นนี้เกิดจากหลายสิ่งรวมกัน ดอร์ทมุนด์ ทำในสิ่งที่แตกต่างจากสโมสรอื่นๆ ออกไปอย่างสิ้นเชิง หากเป็นทีมอื่นพวกเขาจะกระตุ้นให้แฟนๆ มีส่วนร่วมกับการชอปปิ้งออนไลน์, อาหารและเครื่องดื่มระหว่างชมเกม รวมถึงการโพสต์ภาพและข้อความลงโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก แต่สำหรับ ดอร์ทมุนด์ ที่นี่ไม่ขายอาหารและเครื่องดื่มระหว่างที่เกมกำลังแข่ง และในระหว่างพักครึ่งพวกเขาจะให้โฆษกสนามเรียกแฟนๆ กลับมาประจำที่ให้ตรงเวลาก่อนครึ่งหลังเริ่มขึ้น และที่สวนทางกับโลกปัจจุบันที่สุดคือ แม้จะมีไวไฟฟรีให้ใช้ แต่ ดอร์ทมุนด์ วางแผนที่จะตัดสัญญาณไวไฟในสนามระหว่างเกม เพื่อให้คนดูได้เก็บมือถือและใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการชมฟุตบอลมากกว่า

Football-143

“เราคือสโมสรฟุตบอล ถ้าเราไม่รันองค์กรด้วยฟุตบอลแล้วล่ะก็ ส่วนของธุรกิจไม่มีทางเกิดขึ้นได้ จริงอยู่ที่ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟขบวนนี้ แต่แน่นอนมันไม่ใช่พลังงานที่ทำให้รถขับเคลื่อนไปข้าหน้าแต่อย่างใด” เครเมอร์ พยายามอธิบายให้ชัดเข้าไปอีก

แม้จะไม่ต้องเมาขึ้นไปเชียร์แต่เสียงเชียร์ของ เยลโล่ วอลล์ ก็ดังสนั่นแบบที่ใครก็ปฎิเสธไม่ได้ หากใครได้ดูการถ่ายทอดสดก็คงจะได้เห็นว่าแฟนบอลของดอร์ทมุนด์ คือแรงขับเคลื่อนให้ทีมเล่นในสไตล์ลุยแหลกและสู้ตายอย่างแท้จริง 

“สนามแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อฟุตบอลและเพื่อแฟนบอลให้มาปลดปล่อยตัวตนของพวกเขา การแข่งขันฟุตบอลยุโรปทุกรายการควรจัดที่นี่” นี่คือสิ่งที่หนังสือพิมพ์ The Times ให้คำจำกัดความความสุดยอดของ ซิกแนล อิดูน่า พาร์ค

มโนหรือเปล่า?

ทุกอย่างดูโลกสวยมากๆ จากคำอธิบายของ เครเมอร์ ที่เป็นผู้จัดการด้านการตลาดของทีมดอร์ทมุนด์ ทว่าในแง่ของตัวเลขล่ะมันเป็นอย่างไร?

Football-144

นับตั้งแต่การเข้ามาบริหารของ ฮันส์ โยอาคิม วัตซ์เค่ ในปี 2005 ดอร์ทมุนด์ เริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้ 120 ล้านยูโร และต้องเสียเงินปีละ 17 ล้านยูโรโดยประมาณเพื่อเป็นค่าเช่าสนามของพวกเขาเองที่ได้เอาไปจำนองไว้ นั่นจึงทำให้ช่วงแรกๆ ดอร์ทมุนด์ไม่มีเงินซื้อนักเตะชื่อดัง ทว่าสิ่งเหล่านี้แก้ไขได้

วัตซ์เค่ พลิกวิกฤติทางการเงินจนทีมกลับมาซื้อสนามคืนได้อย่างที่ได้กล่าวไปในช่วงต้น และเริ่มนำเงินไปใช้ทำในสิ่งที่เพิ่มความมั่นคงระยะยาวทั้งศูนย์ฝึกที่ทันสมัยและพัฒนาระบบอะคาเดมี่ที่ยอดเยี่ยม 

“หลังจากที่เราได้สร้างรากฐานกันใหม่เหมือนกับกดปุ่มรีเซ็ต เราเริ่มตั้งเป้าหมายกันว่าสิ่งสำคัญที่สุดหลังจากนี้คือความสำเร็จในด้านการแข่งขันโดยทีเราไม่ต้องเป็นหนี้ เราจะไม่ใช้เงินเยอะ แต่เราจะใช้มันอย่างชาญฉลาด” วัตซ์เค่ กล่าว

ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างที่เห็น ดอร์ทมุนด์ ประสบความสำเร็จเท่าที่พวกเขาจะคาดหวังได้ด้วยกำลังทรัพย์ที่มี ขณะที่ในแง่ของธุรกิจตอนนี้ หุ้นของ ดอร์ทมุนด์ ที่เคยมีราคาไม่ถึง 1 ยูโรต่อหุ้น กลับเพิ่มเป็นเกือบ 10 ยูโรต่อหุ้น และมากที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งการมีแฟนบอลเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้นมันยิ่งทำให้เสียงของแฟนบอลมีความหมาย พวกเขาสามารถคานเสียงของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ อย่างเช่นในบางกรณีที่ความเห็นไม่ตรงกัน อาทิ ผู้ถือหุ้นที่เป็นแฟนบอลอยากนำกำไรที่สโมสรได้ไปซื้อนักเตะดังๆ แต่ผู้ถือหุ้นที่เป็นห้างร้านรายใหญ่กลับคิดว่าการซื้อตัวนักเตะดังๆ เก่งๆ เป็นความเสี่ยง ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้ดอร์ทมุนด์มีสมดุลในเรื่องดุลย์อำนาจด้วย

“มันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก การมีหุ้นของสโมสรทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม” คาล เฮาซาเมน แฟนบอลชนชั้นแรงงานที่เชียร์ดอร์ทมุนด์มากว่า 30 ปีกล่าว

Football-145

ดอร์ทมุนด์ เป็นทีมที่ยึดมั่นในรากฐานของแฟนบอลของพวกเขา ซึ่งการบริหารในส่วนต่างๆ แบบพร้อมฟังกันและกัน ทำให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นแฟนบอลต่างเกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับหุ้นของสโมสรที่อยู่ในมือของพวกเขาไม่ใช่เงินทองเหมือนกับธุรกิจหุ้นตัวอื่นๆ 

BBC เคยทำสกู๊ปวีดีโอชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า ‘In Germany, the fan is king’ เพื่อพูดถึงความสำคัญของแฟนบอลในฟุตบอลลีกเยอรมันและระบบที่แตกต่างจากฟุตบอลที่อื่น แน่นอนพวกเขาเอาเรื่องสโมสรดอร์ทมุนด์และแฟนๆ มาเป็นพระเอกในสกู๊ปนั้น เพื่อยกตัวอย่างว่า “แฟนบอลเป็นราชาได้เพราะอะไร?”

ส่วนคำตอบนั้นก็อย่างที่ทุกคนได้อ่านไปทั้งหมดก่อนจะถึงบรรทัดนี้ การเกื้อกูลกันและกันของ ดอร์ทมุนด์ และแฟนๆ ของพวกเขานั่นเองที่ทำให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่เจ๋งที่สุดในโลก 

ทั้งหมดคือที่มาของสโลแกนทีมเสือเหลืองที่มีอยู่ว่า “Echte Liebe” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “รักแท้”… ไม่ต้องสงสัยเลยว่า รักแท้ ในประโยคดังกล่าวสโมสรพยายามจะมอบมันให้กับใคร