post

สตรอยเทล พริเพียต : สโมสรดาวรุ่งที่ต้องหมดอนาคตเพราะ “เชอร์โนบิล”

Football-7

“การระเบิดของนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล บางทีอาจจะเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สหภาพโซเวียตต้องแตกในอีก 5 ปีต่อมา” มีฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2006 

ราวตีหนึ่งของคืนวันที่ 25 เมษายน รอยต่อเช้ามืดของวันที่ 26 เมษายน 1986 ขณะที่หลายคนกำลังหลับใหลอยู่บนเตียงอุ่นๆ ท่ามกลางสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ ได้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นที่เตาปฎิกรณ์หมายเลข 4 ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองเชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของยูเครน

แรงระเบิดในครั้งนั้น คร่าชีวิตผู้คนทันที 31 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 100 คน และยังปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมาในระดับที่สูงกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาถึง 400 เท่า ซึ่งทำให้ผู้ได้รับรังสีป่วยเป็นโรคมะเร็งในเวลาต่อมาอีกราว 4,000-6,000 คน

นอกจากทำลายชีวิตและผู้คนในเชอร์โนบิล โศกนาฎกรรมครั้งนี้ ยังทำลายอนาคตของ สตรอยเทล พริเพียต หนึ่งในสโมสรดาวรุ่งของยูเครนในยุคนั้นลงอย่างราบคาบ

เมืองแห่งอนาคต

ในปี 1954 ห่างจากกรุงมอสโก เมืองหลวงของสหภาพโซเวียตออกไปราว 60 กิโลเมตร โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออบนิงค์ได้เริ่มทำการ นี่คือโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โรงแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

Football-8

ภายใต้บรรยากาศของสงครามเย็น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาและโซเวียต ต่างชิงดีชิงเด่นกันขึ้นมาเป็นเจ้ามหาอำนาจของโลก นอกจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เทคโนโลยีเรื่องพลังงาน ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาแข่งขันกัน และดูเหมือนว่าโซเวียตจะรุดหน้าไปก่อน จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

โซเวียตได้ดำเนินแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงยูเครนที่ตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต พวกเขากำหนดไว้ที่พื้นที่หนึ่งที่ห่างจากเมืองเคียฟออกไปราว 100 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเชอร์โนบิลราว 15 กิโลเมตร

การก่อสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เลนิน เมมโมเรียล 6 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่ 9 ของโซเวียตจึงได้เริ่มขึ้น ณ ที่แห่งนี้ในปี 1970 และมีแผนจะสร้างเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ถึง 6 เตา

แน่นอนว่าการก่อสร้าง การตรวจสอบ การบำรุง ไปจนถึงการวิจัยและการพัฒนา จำเป็นต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้โซเวียตได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมารองรับ มันตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าราว 4 กิโลเมตร และเมือง “พริเพียต” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา

Football-9

เพียงไม่กี่ปีหลังก่อตั้ง พริเพียต ได้กลายเป็นเมืองแห่งอนาคต ประชากรของเมืองส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 26 ปีเท่านั้น ภายในเมืองยังมีโรงเรียนที่ทันสมัย โรงยิม สถานรับเลี้ยงเด็ก สวนสาธารณะ โรงภาพยนตร์ รวมไปถึงอพาร์ทเมนต์ขนาดใหญ่ ไม่ต่างจากเมืองขนาดใหญ่ทั่วไป

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไป คือ สโมสรฟุตบอลอาชีพ คนในเมืองมีความฝันว่าจะมีสโมสรที่เป็นตัวแทนของเมือง และในที่สุดช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ก็ได้มีสโมสรฟุตบอลเกิดขึ้นในเมืองนี้

ชื่อของมันคือ สตรอยเทล พริเพียต

สโมสรของคนงาน

“ในความรู้สึกแบบเข้มงวด ทุกสโมสร (ในสหภาพโซเวียต) เป็นทรัพย์สินของรัฐ และมักจะเกี่ยวข้องกับกระทรวง, สหภาพแรงงาน หรือโรงงานพิเศษ” มานูเอล เวิร์ธ นักเขียนนิตยสารฟอร์บส์ และบัณฑิตปริญญาเอกที่ทำวิจัยเกี่ยวกับฟุตบอลในสหภาพโซเวียตที่มหาวิทยาลัยคิง คอจเลจ อธิบายในงานวิจัยของเขา

Football-10

เช่นกันกับ สตรอยเทล เมื่อหัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้สโมสรแห่งนี้เกิดขึ้นมา คือ วาซิลี คิซิมา โทรฟิโมวิช สมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ และเป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพในรัสเซีย

แม้ว่าโทรฟิโมวิช จะไม่ได้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมาณู แต่เขาก็เป็นแกนหลักในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการให้ฟุตบอลเข้ามาทำให้เมืองนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น

“เรามีคนอยู่ 4 กะ ไม่มีที่ผ่อนคลายที่ไหน นอกจากการไปดูฟุตบอลและดื่มเบียร์ซักขวด” โทรฟิโมวิช กล่าว

ตามภาษารัสเซีย สตรอยเทล แปลว่า “คนงาน” หรือ “ช่างก่อสร้าง” ซึ่งก็ตรงตามความหมาย เมื่อสโมสรประกอบด้วยเหล่าพนักงานในโรงงานไฟฟ้าที่เชอร์โนบิล และนักเตะที่ดึงมาจากชิสโตกาวอสกา เมืองที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไปทางใต้ราว 3-4 กิโลเมตร

ในปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่ พริเพียต ได้รับการระบุอย่างเป็นทางการในฐานะ “เมือง” แห่งสาธารณรัฐยูเครนของโซเวียต สตรอยเทล ก็เริ่มขยับขยายขุมกำลัง เมื่อได้นักเตะอย่าง สตานิสลาฟ กอนชาเรนโก มาร่วมทีม เขาคือนักเตะดังที่เคยเล่นให้กับ สปาร์ตา เคียฟ และ เทมโป มาก่อน

Football-11

และในปี 1981 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองที่เตาปฏิกรณ์แห่งที่ 3 สร้างเสร็จสมบูรณ์ สตรอยเทล ก็มีโอกาสได้ต้อนรับอนาโตเลีย เชเปล ผู้จัดการทีมคนใหม่ ที่มีดีกรีเป็นอดีตนักเตะทีมชาติโซเวียต และเคยเล่นให้กับทีมอย่างดินาโม เคียฟ, ชอร์โนโมเร็ต โอเดซา และ ดินาโม มอสโก

เขาเคยคว้าแชมป์ โซเวียต ซูพรีมลีก มาแล้ว 2 ครั้ง และ โซเวียต ซูพรีมคัพ มาแล้ว 1 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในการสร้างทีมของโทรฟิโมวิช ประธานสโมสร ที่แต่งตั้งผู้จัดการทีมที่มีชื่อเสียงขนาดนี้เข้ามาคุมทีม

ขณะเดียวกันปี 1981 ยังเป็นอีกหนึ่งปีสำคัญของสตรอยเทล เมื่อทีมที่นำโดย วิคตอร์ โฟโนมาเรฟ อดีตกัปตัน ชิสโตกาวอสกา ได้เข้าไปเล่นในระบบลีกของสหภาพโซเวียตได้เป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้สร้างความยิ่งใหญ่ในระดับภูมิภาค ด้วยการคว้าแชมป์ระดับสมัครเล่น และทัวร์นาเมนต์ในเคียฟมาก่อน

เส้นทางสู่ลีกอาชีพของสหภาพโซเวียตได้ทอดยาวมาถึงสโมสรแห่งเมืองปรมาณูแล้ว

ผจญภัยในลีกโซเวียต 

ตามระบบของลีกโซเวียต ในทศวรรษที่ 1970-1980  พวกแบ่งออกเป็น 3 ระดับใหญ่ๆ คือ ซูพรีมลีก, ดิวิชั่น 1 และ ดิวิชั่น 2 โดยต่ำว่าดิวิชั่น 2 จะเป็นลีก ที่แบ่งไปตามโซน เช่น รัสเซียโซน ยูเครนโซน โดยแชมป์แต่ละโซน จะได้สิทธิ์ลงแข่งในลีกเพื่อหาผู้ชนะได้โควต้าเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในดิวิชั่น 2

Football-12

ในขณะที่ สตรอยเทล เริ่มต้นในลีกระดับ Kollektivov Fizicheskoi Kultury  หรือเรียกสั้นๆว่า KFK มัน คือ ลีกระดับภูมิภาคที่แบ่งไปตามพื้นที่ สำหรับพวกเขาอยู่ในลีกภูมิภาค เคียฟ ออฟลาสต์ ที่แชมป์จะได้สิทธิ์เข้าไปเล่นในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติ ซึ่งเข้าไปพบกับแชมป์ KFK โซนอื่น โดยผู้ชนะในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติจะถูกเรียกว่า Team of Master ที่จะเปลี่ยนสถานะเป็นทีมอาชีพเต็มตัว และเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในดิวิชั่น 2

สตรอยเทล ออกสตาร์ทอย่างช้าๆ และพัฒนาผลงานไปพร้อมกับเมือง พวกเขาเริ่มต้นด้วยการคว้าอันดับ 5 ของตารางในปี 1981 แต่ก็ตกมาอันดับสุดท้ายของลีกในฤดูกาลถัดมา หลังต้องเสีย กอนชาเรนโก ไปให้ทีม Kirovogradskuyu  Zvezdu แต่ถึงอย่างนั้นในทัวร์นาเมนต์ของเคียฟ พวกเขาก็สามารถคว้าแชมป์เคียฟ แชมเปียนชิฟ มาครองได้เป็นสมัยที่ 2 หลังจากเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์ในปีก่อน

Football-13

และในปี 1983 ที่มีการเปิดตัวเตาปฎิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล พวกเขาจบในอันดับที่ดีขึ้นด้วยการคว้าอันดับ 6 ของตาราง และสามารถคว้าแชมป์ระดับภูมิภาคของเคียฟเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน จากนั้นในปี 1984 ทีมเริ่มคล้ายกับสโมสรระดับอาชีพมากขึ้น เมื่อสตรอยเทล ได้สร้างศูนย์ฝึกเยาวชน และมีทีมเยาวชนลงแข่งในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ

Football-14

จนกระทั่งปี 1985 จะกลายเป็นปีทองของสตรอยเทล อย่างแท้จริง เมื่อพวกเขาสามารถคว้ารองแชมป์ของลีก KFK ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดที่เคยทำได้ และมีแต้มตามหลัง มาชินอสตรอยเทลี ทีมแชมป์ที่จะได้ลุ้นลงแข่งคว้าตั๋วขึ้นไปเล่นในลีกอาชีพเพียงแค่ 4 คะแนน นอกจากนั้นในปีดังกล่าว พวกเขายังสร้างสถิติใหม่ของสโมสรขึ้น ด้วยการไล่ถล่ม โลโคโมทีฟ สนาเมนกาถึง 13 ลูก

เมื่อทีมกำลังขาขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องมีสนามที่เหมาะสมสำหรับลงเล่น โดยขณะนั้น สนามของพวกเขาค่อนข้างเล็ก และเป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ ทำให้โทรฟิโมวิช เตรียมสร้างสนามใหม่ให้ทีมโดยมีชื่อว่า อแวนฮาร์ด สเตเดียม ที่จะเป็นสนามฟุตบอลโดยเฉพาะ และมีความจุถึง 5,000 ที่นั่ง

Football-15
Football-16

มันถูกกำหนดไว้ว่าจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 1986 ซึ่งตรงกับวันแรงงานของโซเวียต ทำให้มันดูเหมือนเป็นของขวัญที่รัฐมอบให้กับประชาชนในเมืองพริเพียต ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการก่อสร้างเตาปฎิกรณ์หมายเลข 5

“สนามกีฬาแห่งใหม่มีความสำคัญต่อผู้คนเหมือนกับเตาปฎิกรณ์แห่งใหม่” โทรฟิโมวิชกล่าว

แต่มันก็ไม่เคยได้เปิดใช้…ตลอดกาล

หายนะพังเมือง 

25 เมษายน 1986 ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังทดสอบระบบหล่อเย็นของเตาปฎิกรณ์หมายเลข 4 ว่าสามารถทำงานหากไม่มีพลังงานไฟฟ้าได้หรือไม่ แต่ระหว่างการทดสอบ แรงดันไอน้ำได้สูงขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน ทำให้เกิดความร้อนจนแกนปฎิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย และเกิดระเบิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 26 เมษายน

Football-17

หลังเกิดเหตุโซเวียตพยายามปิดข่าว เนื่องจากไม่อยากให้ทั้งโลกได้เห็นความผิดพลาดของพวกเขา จนในวันที่ 28 เมษายน จึงได้มีการแถลงข่าวสั้นๆ ที่ทำให้ได้รู้ว่าแร่ยูเรเนียมราว 190 ตันได้ลอยสู่ชั้นบรรยากาศ  กระจายปกคลุมทางตะวันตกของโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก และยุโรปเหนือเป็นพื้นที่กว่า 200,000 ตารางกิโลเมตร ทำให้ต้องอพยพคนกว่า 336,000 คนออกจากพื้นที่ ในขณะที่รัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ถูกประกาศให้เป็นเขตอันตราย

แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 31 ราย และบาดเจ็บกว่า 100 คน มีรายงานจากคณะกรรมการวิทยาศาสตร์เรื่องผลกระทบจากรังสีปรมาณูของสหประชาชาติ ระบุว่ามีเด็กและวัยรุ่นกว่า 6,000 คน ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์จากการได้รับกัมมันตภาพรังสีจากเหตุการณ์นั้น

อันที่จริงในวันที่เกิดเหตุระเบิด สตรอยเทล ที่มีคิวเปิดบ้านรับการมาเยือนของ Mashinostroiteli  ในศึกภูมิภาคเคียฟ คัพ รอบรองชนะเลิศ แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกการแข่งขัน โดยมีเรื่องเล่าว่าขณะที่ กำลังฝึกซ้อมที่สนามก่อนเกม ที่ห่างจากเมืองพรีเพียตราว 90 กิโลเมตร สนามซ้อมของพวกเขาก็กลายเป็นลานจอดของเฮลิคอปเตอร์ของทหารที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าพวกเขาไม่ต้องเดินทางไปเมืองพริเพียตอีกแล้ว

สตรอยเทล จำเป็นต้องถอนทีมจากการแข่งขันใน KFK ลีกฤดูกาล 1986 ความฝันของพวกเขาที่จะเป็นสโมสรอาชีพของเมืองแห่งนี้ต้องพังทลายลง เมื่อ 3 วันหลังเหตุระเบิด ชาวเมืองพริเพียต ที่เหลืออยู่ต้องอพยพไปตั้งรกรากที่เมืองสลาวูเทียช  ที่ห่างออกไปจากเชอร์โนบิลราว 45 กิโลเมตร

Football-18

พวกเขายังมีความหวังต่อสโมสรฟุตบอลของเมือง แม้จะต้องย้ายถิ่นที่อยู่ แต่สตรอยเทล ก็ยังพยายามไปต่อ พวกเขาเปลี่ยนชื่อทีมมาเป็น สตรอยเทล สลาวูเทียช และลงแข่งขันทันทีในฤดูกาล 1987

อย่างไรก็ดีเนื่องจากในเมืองสลาวูเทียช ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อม ทำให้ทีมประสบปัญหาอย่างมากในช่วงแรก แต่ถึงอย่างนั้นทีมก็ทำผลงานได้ใกล้เคียงก่อนเกิดเหตุระเบิด ด้วยการจบในอันดับ 3 ใน KFK โซน 4

ฤดูกาลต่อมาพวกเขากลับมาเล่นใน KFK โซน 3 อีกครั้ง แต่ก็ทำผลงานได้ไม่ดีนัก จบในอันดับ 8 ของตารางจาก 12 ทีม และนั่นก็เป็นฤดูกาลสุดท้ายของพวกเขา เมื่อทีมรู้ดีว่าไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว

ชาวเมืองและนักเตะที่อพยพจากพริเพียต ต้องพยายามอย่างหนักในการปรับตัวให้เข้ากับเมืองใหม่ มันจึงเป็นเรื่องยากเกินไปที่จะขับเคลื่อน สตรอยเทลไปด้วยกัน ท้ายที่สุดพวกเขาโยนผ้ายอมแพ้ และ เอฟเค สตรอยเทล สลาวูเทียช ก็ประกาศยุบทีมอย่างเป็นทางการหลังจบฤดูกาล 1988

อนุสรณ์สถานแห่งเชอร์โนบิล 

แม้ว่าชาวเมืองสลาวูเทียชจะมีทีมฟุตบอลถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้งในนาม เอฟซี สลาวูเทียช ในปี 1994 แต่ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทีมเก่าอย่าง สตรอยเทล แต่อย่างใด มันโลดแล่นอยู่ในลีกระดับสองของยูเครนเพียงชั่วเวลาสั้นๆ ก่อนจะยุบทีมไปในปี 1998

Football-19

Football-20

ในขณะที่เมืองพริเพียต เมืองเก่าของพวกเขา แม้จะผ่านเหตุการณ์มานานกว่า 30 ปี ก็ยังได้รับสถานะเป็นเขตอันตราย เนื่องจากคาดการณ์ว่าพื้นที่รอบๆโรงงานเชอร์โนบิล จะไม่สามารถอาศัยได้อีกราว 20,000 ปี

มันได้กลายเป็นเมืองร้างที่เต็มไปด้วยต้นไม้และสัตว์ป่า แม้ว่าเมื่อปี 2015 รัฐบาลยูเครน จะเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่การไปที่เมืองแห่งนี้ต้องมีไกด์นำทาง หรือเจ้าหน้าที่ไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวสัมผัสกัมมันตภาพรังสีในระดับสูง

ในขณะที่ อแวนฮาร์ด สเตเดียม สนามใหม่ของสตรอยเทล ก็ไม่เคยถูกเปิดใช้อีกเลย และถูกทิ้งร้างนับตั้งแต่วันเกิดอุบัติเหตุ ตอนนี้มันถูกปกคลุมไปด้วยป่ารกชัฏและทำหน้าที่เป็นเพียงแลนด์มาร์คสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น

Football-21
Football-22

Football-23

สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความทรงจำในฐานะการทำลายล้างของพลังงานนิวเคลียร์ และสิ่งเตือนใจว่าครั้งหนึ่งเชอร์โนบิล ไม่เพียงทำลายชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่ยังได้ทำลายความหวังของสโมสรฟุตบอลเล็กๆหนึ่งจนพังพินาศ