สตรอยเทล พริเพียต : สโมสรดาวรุ่งที่ต้องหมดอนาคตเพราะ “เชอร์โนบิล”

Football-7

“การระเบิดของนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล บางทีอาจจะเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สหภาพโซเวียตต้องแตกในอีก 5 ปีต่อมา” มีฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2006 

ราวตีหนึ่งของคืนวันที่ 25 เมษายน รอยต่อเช้ามืดของวันที่ 26 เมษายน 1986 ขณะที่หลายคนกำลังหลับใหลอยู่บนเตียงอุ่นๆ ท่ามกลางสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ ได้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นที่เตาปฎิกรณ์หมายเลข 4 ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองเชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของยูเครน

แรงระเบิดในครั้งนั้น คร่าชีวิตผู้คนทันที 31 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 100 คน และยังปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมาในระดับที่สูงกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาถึง 400 เท่า ซึ่งทำให้ผู้ได้รับรังสีป่วยเป็นโรคมะเร็งในเวลาต่อมาอีกราว 4,000-6,000 คน

นอกจากทำลายชีวิตและผู้คนในเชอร์โนบิล โศกนาฎกรรมครั้งนี้ ยังทำลายอนาคตของ สตรอยเทล พริเพียต หนึ่งในสโมสรดาวรุ่งของยูเครนในยุคนั้นลงอย่างราบคาบ

เมืองแห่งอนาคต

ในปี 1954 ห่างจากกรุงมอสโก เมืองหลวงของสหภาพโซเวียตออกไปราว 60 กิโลเมตร โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออบนิงค์ได้เริ่มทำการ นี่คือโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โรงแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

Football-8

ภายใต้บรรยากาศของสงครามเย็น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาและโซเวียต ต่างชิงดีชิงเด่นกันขึ้นมาเป็นเจ้ามหาอำนาจของโลก นอกจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เทคโนโลยีเรื่องพลังงาน ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาแข่งขันกัน และดูเหมือนว่าโซเวียตจะรุดหน้าไปก่อน จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

โซเวียตได้ดำเนินแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงยูเครนที่ตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต พวกเขากำหนดไว้ที่พื้นที่หนึ่งที่ห่างจากเมืองเคียฟออกไปราว 100 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเชอร์โนบิลราว 15 กิโลเมตร

การก่อสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เลนิน เมมโมเรียล 6 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่ 9 ของโซเวียตจึงได้เริ่มขึ้น ณ ที่แห่งนี้ในปี 1970 และมีแผนจะสร้างเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ถึง 6 เตา

แน่นอนว่าการก่อสร้าง การตรวจสอบ การบำรุง ไปจนถึงการวิจัยและการพัฒนา จำเป็นต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้โซเวียตได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมารองรับ มันตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าราว 4 กิโลเมตร และเมือง “พริเพียต” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา

Football-9

เพียงไม่กี่ปีหลังก่อตั้ง พริเพียต ได้กลายเป็นเมืองแห่งอนาคต ประชากรของเมืองส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 26 ปีเท่านั้น ภายในเมืองยังมีโรงเรียนที่ทันสมัย โรงยิม สถานรับเลี้ยงเด็ก สวนสาธารณะ โรงภาพยนตร์ รวมไปถึงอพาร์ทเมนต์ขนาดใหญ่ ไม่ต่างจากเมืองขนาดใหญ่ทั่วไป

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไป คือ สโมสรฟุตบอลอาชีพ คนในเมืองมีความฝันว่าจะมีสโมสรที่เป็นตัวแทนของเมือง และในที่สุดช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ก็ได้มีสโมสรฟุตบอลเกิดขึ้นในเมืองนี้

ชื่อของมันคือ สตรอยเทล พริเพียต

สโมสรของคนงาน

“ในความรู้สึกแบบเข้มงวด ทุกสโมสร (ในสหภาพโซเวียต) เป็นทรัพย์สินของรัฐ และมักจะเกี่ยวข้องกับกระทรวง, สหภาพแรงงาน หรือโรงงานพิเศษ” มานูเอล เวิร์ธ นักเขียนนิตยสารฟอร์บส์ และบัณฑิตปริญญาเอกที่ทำวิจัยเกี่ยวกับฟุตบอลในสหภาพโซเวียตที่มหาวิทยาลัยคิง คอจเลจ อธิบายในงานวิจัยของเขา

Football-10

เช่นกันกับ สตรอยเทล เมื่อหัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้สโมสรแห่งนี้เกิดขึ้นมา คือ วาซิลี คิซิมา โทรฟิโมวิช สมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ และเป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพในรัสเซีย

แม้ว่าโทรฟิโมวิช จะไม่ได้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมาณู แต่เขาก็เป็นแกนหลักในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการให้ฟุตบอลเข้ามาทำให้เมืองนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น

“เรามีคนอยู่ 4 กะ ไม่มีที่ผ่อนคลายที่ไหน นอกจากการไปดูฟุตบอลและดื่มเบียร์ซักขวด” โทรฟิโมวิช กล่าว

ตามภาษารัสเซีย สตรอยเทล แปลว่า “คนงาน” หรือ “ช่างก่อสร้าง” ซึ่งก็ตรงตามความหมาย เมื่อสโมสรประกอบด้วยเหล่าพนักงานในโรงงานไฟฟ้าที่เชอร์โนบิล และนักเตะที่ดึงมาจากชิสโตกาวอสกา เมืองที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไปทางใต้ราว 3-4 กิโลเมตร

ในปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่ พริเพียต ได้รับการระบุอย่างเป็นทางการในฐานะ “เมือง” แห่งสาธารณรัฐยูเครนของโซเวียต สตรอยเทล ก็เริ่มขยับขยายขุมกำลัง เมื่อได้นักเตะอย่าง สตานิสลาฟ กอนชาเรนโก มาร่วมทีม เขาคือนักเตะดังที่เคยเล่นให้กับ สปาร์ตา เคียฟ และ เทมโป มาก่อน

Football-11

และในปี 1981 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองที่เตาปฏิกรณ์แห่งที่ 3 สร้างเสร็จสมบูรณ์ สตรอยเทล ก็มีโอกาสได้ต้อนรับอนาโตเลีย เชเปล ผู้จัดการทีมคนใหม่ ที่มีดีกรีเป็นอดีตนักเตะทีมชาติโซเวียต และเคยเล่นให้กับทีมอย่างดินาโม เคียฟ, ชอร์โนโมเร็ต โอเดซา และ ดินาโม มอสโก

เขาเคยคว้าแชมป์ โซเวียต ซูพรีมลีก มาแล้ว 2 ครั้ง และ โซเวียต ซูพรีมคัพ มาแล้ว 1 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในการสร้างทีมของโทรฟิโมวิช ประธานสโมสร ที่แต่งตั้งผู้จัดการทีมที่มีชื่อเสียงขนาดนี้เข้ามาคุมทีม

ขณะเดียวกันปี 1981 ยังเป็นอีกหนึ่งปีสำคัญของสตรอยเทล เมื่อทีมที่นำโดย วิคตอร์ โฟโนมาเรฟ อดีตกัปตัน ชิสโตกาวอสกา ได้เข้าไปเล่นในระบบลีกของสหภาพโซเวียตได้เป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้สร้างความยิ่งใหญ่ในระดับภูมิภาค ด้วยการคว้าแชมป์ระดับสมัครเล่น และทัวร์นาเมนต์ในเคียฟมาก่อน

เส้นทางสู่ลีกอาชีพของสหภาพโซเวียตได้ทอดยาวมาถึงสโมสรแห่งเมืองปรมาณูแล้ว

ผจญภัยในลีกโซเวียต 

ตามระบบของลีกโซเวียต ในทศวรรษที่ 1970-1980  พวกแบ่งออกเป็น 3 ระดับใหญ่ๆ คือ ซูพรีมลีก, ดิวิชั่น 1 และ ดิวิชั่น 2 โดยต่ำว่าดิวิชั่น 2 จะเป็นลีก ที่แบ่งไปตามโซน เช่น รัสเซียโซน ยูเครนโซน โดยแชมป์แต่ละโซน จะได้สิทธิ์ลงแข่งในลีกเพื่อหาผู้ชนะได้โควต้าเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในดิวิชั่น 2

Football-12

ในขณะที่ สตรอยเทล เริ่มต้นในลีกระดับ Kollektivov Fizicheskoi Kultury  หรือเรียกสั้นๆว่า KFK มัน คือ ลีกระดับภูมิภาคที่แบ่งไปตามพื้นที่ สำหรับพวกเขาอยู่ในลีกภูมิภาค เคียฟ ออฟลาสต์ ที่แชมป์จะได้สิทธิ์เข้าไปเล่นในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติ ซึ่งเข้าไปพบกับแชมป์ KFK โซนอื่น โดยผู้ชนะในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติจะถูกเรียกว่า Team of Master ที่จะเปลี่ยนสถานะเป็นทีมอาชีพเต็มตัว และเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในดิวิชั่น 2

สตรอยเทล ออกสตาร์ทอย่างช้าๆ และพัฒนาผลงานไปพร้อมกับเมือง พวกเขาเริ่มต้นด้วยการคว้าอันดับ 5 ของตารางในปี 1981 แต่ก็ตกมาอันดับสุดท้ายของลีกในฤดูกาลถัดมา หลังต้องเสีย กอนชาเรนโก ไปให้ทีม Kirovogradskuyu  Zvezdu แต่ถึงอย่างนั้นในทัวร์นาเมนต์ของเคียฟ พวกเขาก็สามารถคว้าแชมป์เคียฟ แชมเปียนชิฟ มาครองได้เป็นสมัยที่ 2 หลังจากเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์ในปีก่อน

Football-13

และในปี 1983 ที่มีการเปิดตัวเตาปฎิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล พวกเขาจบในอันดับที่ดีขึ้นด้วยการคว้าอันดับ 6 ของตาราง และสามารถคว้าแชมป์ระดับภูมิภาคของเคียฟเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน จากนั้นในปี 1984 ทีมเริ่มคล้ายกับสโมสรระดับอาชีพมากขึ้น เมื่อสตรอยเทล ได้สร้างศูนย์ฝึกเยาวชน และมีทีมเยาวชนลงแข่งในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ

Football-14

จนกระทั่งปี 1985 จะกลายเป็นปีทองของสตรอยเทล อย่างแท้จริง เมื่อพวกเขาสามารถคว้ารองแชมป์ของลีก KFK ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดที่เคยทำได้ และมีแต้มตามหลัง มาชินอสตรอยเทลี ทีมแชมป์ที่จะได้ลุ้นลงแข่งคว้าตั๋วขึ้นไปเล่นในลีกอาชีพเพียงแค่ 4 คะแนน นอกจากนั้นในปีดังกล่าว พวกเขายังสร้างสถิติใหม่ของสโมสรขึ้น ด้วยการไล่ถล่ม โลโคโมทีฟ สนาเมนกาถึง 13 ลูก

เมื่อทีมกำลังขาขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องมีสนามที่เหมาะสมสำหรับลงเล่น โดยขณะนั้น สนามของพวกเขาค่อนข้างเล็ก และเป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ ทำให้โทรฟิโมวิช เตรียมสร้างสนามใหม่ให้ทีมโดยมีชื่อว่า อแวนฮาร์ด สเตเดียม ที่จะเป็นสนามฟุตบอลโดยเฉพาะ และมีความจุถึง 5,000 ที่นั่ง

Football-15
Football-16

มันถูกกำหนดไว้ว่าจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 1986 ซึ่งตรงกับวันแรงงานของโซเวียต ทำให้มันดูเหมือนเป็นของขวัญที่รัฐมอบให้กับประชาชนในเมืองพริเพียต ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการก่อสร้างเตาปฎิกรณ์หมายเลข 5

“สนามกีฬาแห่งใหม่มีความสำคัญต่อผู้คนเหมือนกับเตาปฎิกรณ์แห่งใหม่” โทรฟิโมวิชกล่าว

แต่มันก็ไม่เคยได้เปิดใช้…ตลอดกาล

หายนะพังเมือง 

25 เมษายน 1986 ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังทดสอบระบบหล่อเย็นของเตาปฎิกรณ์หมายเลข 4 ว่าสามารถทำงานหากไม่มีพลังงานไฟฟ้าได้หรือไม่ แต่ระหว่างการทดสอบ แรงดันไอน้ำได้สูงขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน ทำให้เกิดความร้อนจนแกนปฎิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย และเกิดระเบิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 26 เมษายน

Football-17

หลังเกิดเหตุโซเวียตพยายามปิดข่าว เนื่องจากไม่อยากให้ทั้งโลกได้เห็นความผิดพลาดของพวกเขา จนในวันที่ 28 เมษายน จึงได้มีการแถลงข่าวสั้นๆ ที่ทำให้ได้รู้ว่าแร่ยูเรเนียมราว 190 ตันได้ลอยสู่ชั้นบรรยากาศ  กระจายปกคลุมทางตะวันตกของโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก และยุโรปเหนือเป็นพื้นที่กว่า 200,000 ตารางกิโลเมตร ทำให้ต้องอพยพคนกว่า 336,000 คนออกจากพื้นที่ ในขณะที่รัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ถูกประกาศให้เป็นเขตอันตราย

แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 31 ราย และบาดเจ็บกว่า 100 คน มีรายงานจากคณะกรรมการวิทยาศาสตร์เรื่องผลกระทบจากรังสีปรมาณูของสหประชาชาติ ระบุว่ามีเด็กและวัยรุ่นกว่า 6,000 คน ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์จากการได้รับกัมมันตภาพรังสีจากเหตุการณ์นั้น

อันที่จริงในวันที่เกิดเหตุระเบิด สตรอยเทล ที่มีคิวเปิดบ้านรับการมาเยือนของ Mashinostroiteli  ในศึกภูมิภาคเคียฟ คัพ รอบรองชนะเลิศ แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกการแข่งขัน โดยมีเรื่องเล่าว่าขณะที่ กำลังฝึกซ้อมที่สนามก่อนเกม ที่ห่างจากเมืองพรีเพียตราว 90 กิโลเมตร สนามซ้อมของพวกเขาก็กลายเป็นลานจอดของเฮลิคอปเตอร์ของทหารที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าพวกเขาไม่ต้องเดินทางไปเมืองพริเพียตอีกแล้ว

สตรอยเทล จำเป็นต้องถอนทีมจากการแข่งขันใน KFK ลีกฤดูกาล 1986 ความฝันของพวกเขาที่จะเป็นสโมสรอาชีพของเมืองแห่งนี้ต้องพังทลายลง เมื่อ 3 วันหลังเหตุระเบิด ชาวเมืองพริเพียต ที่เหลืออยู่ต้องอพยพไปตั้งรกรากที่เมืองสลาวูเทียช  ที่ห่างออกไปจากเชอร์โนบิลราว 45 กิโลเมตร

Football-18

พวกเขายังมีความหวังต่อสโมสรฟุตบอลของเมือง แม้จะต้องย้ายถิ่นที่อยู่ แต่สตรอยเทล ก็ยังพยายามไปต่อ พวกเขาเปลี่ยนชื่อทีมมาเป็น สตรอยเทล สลาวูเทียช และลงแข่งขันทันทีในฤดูกาล 1987

อย่างไรก็ดีเนื่องจากในเมืองสลาวูเทียช ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อม ทำให้ทีมประสบปัญหาอย่างมากในช่วงแรก แต่ถึงอย่างนั้นทีมก็ทำผลงานได้ใกล้เคียงก่อนเกิดเหตุระเบิด ด้วยการจบในอันดับ 3 ใน KFK โซน 4

ฤดูกาลต่อมาพวกเขากลับมาเล่นใน KFK โซน 3 อีกครั้ง แต่ก็ทำผลงานได้ไม่ดีนัก จบในอันดับ 8 ของตารางจาก 12 ทีม และนั่นก็เป็นฤดูกาลสุดท้ายของพวกเขา เมื่อทีมรู้ดีว่าไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว

ชาวเมืองและนักเตะที่อพยพจากพริเพียต ต้องพยายามอย่างหนักในการปรับตัวให้เข้ากับเมืองใหม่ มันจึงเป็นเรื่องยากเกินไปที่จะขับเคลื่อน สตรอยเทลไปด้วยกัน ท้ายที่สุดพวกเขาโยนผ้ายอมแพ้ และ เอฟเค สตรอยเทล สลาวูเทียช ก็ประกาศยุบทีมอย่างเป็นทางการหลังจบฤดูกาล 1988

อนุสรณ์สถานแห่งเชอร์โนบิล 

แม้ว่าชาวเมืองสลาวูเทียชจะมีทีมฟุตบอลถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้งในนาม เอฟซี สลาวูเทียช ในปี 1994 แต่ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทีมเก่าอย่าง สตรอยเทล แต่อย่างใด มันโลดแล่นอยู่ในลีกระดับสองของยูเครนเพียงชั่วเวลาสั้นๆ ก่อนจะยุบทีมไปในปี 1998

Football-19

Football-20

ในขณะที่เมืองพริเพียต เมืองเก่าของพวกเขา แม้จะผ่านเหตุการณ์มานานกว่า 30 ปี ก็ยังได้รับสถานะเป็นเขตอันตราย เนื่องจากคาดการณ์ว่าพื้นที่รอบๆโรงงานเชอร์โนบิล จะไม่สามารถอาศัยได้อีกราว 20,000 ปี

มันได้กลายเป็นเมืองร้างที่เต็มไปด้วยต้นไม้และสัตว์ป่า แม้ว่าเมื่อปี 2015 รัฐบาลยูเครน จะเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่การไปที่เมืองแห่งนี้ต้องมีไกด์นำทาง หรือเจ้าหน้าที่ไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวสัมผัสกัมมันตภาพรังสีในระดับสูง

ในขณะที่ อแวนฮาร์ด สเตเดียม สนามใหม่ของสตรอยเทล ก็ไม่เคยถูกเปิดใช้อีกเลย และถูกทิ้งร้างนับตั้งแต่วันเกิดอุบัติเหตุ ตอนนี้มันถูกปกคลุมไปด้วยป่ารกชัฏและทำหน้าที่เป็นเพียงแลนด์มาร์คสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น

Football-21
Football-22

Football-23

สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความทรงจำในฐานะการทำลายล้างของพลังงานนิวเคลียร์ และสิ่งเตือนใจว่าครั้งหนึ่งเชอร์โนบิล ไม่เพียงทำลายชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่ยังได้ทำลายความหวังของสโมสรฟุตบอลเล็กๆหนึ่งจนพังพินาศ

“ฮอตช็อต” เชื่อ “เคน” จะทำลายสถิติในทีมชาติของ “รูนีย์”

Football-6

อลัน เชียร์เรอร์ ตำนานกองหน้าแห่งศึก พรีเมียร์ลีก และ ทีมชาติอังกฤษ เชื่อว่า ​แฮร์รี เคน จะสามารถทำลายสถิติดาวซัลโวสูงสุดของ เวย์น รูนีย์ ที่ยิงไว้ให้กับทัพสิงโตคำรามที่ 53 ประตูได้แน่นอน

“หลังทำแฮตทริกได้ในเกมกับ บัลแกเรีย เมื่อวันเสาร์ แฮร์รี เคน ก็ก้าวข้ามสถิติการยิงประตูให้ทีมชาติอังกฤษของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ ไปเรียบร้อยแล้ว และตามหลังผมอยู่แค่ 5 ลูกเท่านั้น” ฮอตช็อต กล่าว

“แน่นอนว่าเขาจะแซงผมได้ในอนาคตอันใกล้ และแน่นอนว่าต้องทำลายสถิติของ เวย์น รูนีย์ ที่ 53 ลูกได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะ เคน เพิ่งอายุแค่ 26 มีเวลาสร้างผลงานอีกนานมาก”

“ถ้าหาก เคน รักษาสภาพร่างกายให้ฟิตได้ตลอด เชื่อเถอะว่าเขาจะลงเล่นเป็นตัวจริงในทีมชาติไปอีกนานอย่างน้อย 7 ปีโน่นแหละ สำคัญคือมีหลายเกมที่ได้เจอกับคู่ต่อสู้ที่ระดับต่ำกว่ามาก ๆ รออยู่ทั้งแมตช์อุ่นเครื่อง แมตช์คัดเลือกยูโรฯ, บอลโลก ฯลฯ และยิ่งมีตัวจี๊ด ๆ อย่าง ราฮีม สเตอร์ลิง คอยช่วยงานอยู่ด้วยนะ ยังไงก็ยิงกระจาย”

เบลเยียม ฟอร์มดุบุกถล่ม สกอตแลนด์ 4-0 คัดยูโร กลุ่ม ไอ

Football-5

การเเข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 รอบคัดเลือก กลุ่ม ไอ คู่ระหว่างสกอตแลนด์ อันดับ 4 เปิดฮัมพ์เดน พาร์คต้อนรับการมาเยือนของ เบลเยียม จ่าฝูง

สกอตแลนด์ ฟอรืมไม่ดีแพ้มา 2 นัดติด เกมนี้ สตีฟ คลาร์ก กุนซือวางหมากมาในระบบ 4-3-3 นำมาโดย ดาวดังอย่าง สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ , โรเบิร์ต สน็อดกราสซ์ และ แอนดี โรเบิร์ตสัน กัปตันทีม

เบลเยียม ของ โรแบร์โต มาร์ติเนซ ผลงานเยี่ยมชนะ 5 เกมติด นัดนี้วางหมากมาในระบบ 3-4-2-1 นำมาโดยแนวรุกอย่าง ดรีส์ เมอร์เทนส์ , เควิน เดอ บรอยน์ และ โรเมลู ลูกากู คอยผลิตสกอร์

นาทีที่ 10 เบลเยียม ได้ประตูนำก่อนรวดเร็วจากจังหวะโต้กลับ เควิน เดอ บรอยน์ ไหลนิ่มๆ ให้ ลูกากู ที่วิ่งสอดมาพร้อมกัน ยิ่งด้วยซ้ายเข้าไปง่ายดาย

เบลเยียมหนีเป็น 2-0 ในนาที 24 เมื่อ เดอ บรอยน์ โยนบอลจากฝั่งขวาให้ โธมัส แฟร์มาเล่น กองหลังจอมเก๋าชาร์จระยะ 6 หลาตุงตาข่าย

สกอร์ไหลเป็น 3-0 ในนาที 32 เมื่อได้เตะมุม เดอ บรอยน์ คนเดิมทำแฮตทริกแอสซิสต์ด้วยการเปิดให้ โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์ โขกเช็ดคานเข้าประตูไป ก่อนจบครึ่งแรกด้วยสกอร์นี้

ครึ่งหลัง สกอตแลนด์ ได้ลุ้นก่อนจากฟรีคิกของ โรเบิร์ต สน็อดกราสส์ ที่ปั่นด้วยซ้าย ทว่าเฉียดคานออกหลังไป

จากนั้นนาที 71 เป็นโอกาสของเบลเยียมบ้างเมื่อ เดอ บรอยน์ ทำชิ่งกับ เมอร์เท่นส์ ก่อนตั้งป้อมซัดด้วยขวาตรงเขตโทษ ทว่าบอลพุ่งเฉียดเสาออกหลังไป

อีก 11 นาทีถัดมา เบลเยียม มาได้เพิ่มเมื่อ ลูกากู เก็บบอลได้ก่อนม้วนแล้วจ่ายเข้าเขตโทษฝั่งซ้าย เควิน เดอ บรอยน์ วิ่งมายิงแบบไม่ต้องจับ บอลพุ่งเสียบเสาไกลงามหยด

จบเกม เบลเยียม บุกชนะ สกอตแลนด์ 4-0 เก็บชัยชนะได้ 6 นัดติดต่อกันมี 18 คะแนนเต็ม ส่วนสกอตแลนด์มีเพียง 6 คะแนน

เยอรมัน บุกทุบ ไอร์แลนด์เหนือ 2-0 คัดยูโร กลุ่ม ซี

Football-4

การเเข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 รอบคัดเลือก กลุ่มซี เป็นการพบกันระหว่าง ไอร์แลนด์เหนือ เปิดสนามวินด์เซอร์ ปาร์ค ในเมืองเบลฟาสต์ ต้อนรับการมาเยือนของ เยอรมัน

ไมเคิล โอนีล กุนซือเจ้าบ้าน เลือกจัดทัพมาในระบบ 4-3-3 ด้วยการใช้สามแนวรุกเป็น คอร์รี อีแวนส์, ไนออล แม็คกินน์ และ คอเนอร์ วอชิงตัน

ด้านทีมเยือนของ โยอาคิม เลิฟ วางหมากมาในแผน 4-3-3 เช่นกัน ด้วยการใช้สามแนวรุกเป็น มาร์โก รอยส์, แซร์ช กนาบรี้ และ ติโม แวร์เนอร์

ผลปรากฏว่า นาที 22 เยอรมัน ก็เกือบได้จุดโทษเมื่อ มาร์เซล ฮัลสเต่นแบร์ก เปิดบอลจากซ้ายไปให้ ยูเลี่ยน บรันด์ท ยิงด้วยซ้ายในเขตโทษ บอลโดนมือ จอนนี่ อีแวนส์ แต่ผู้ตัดสินมองไม่ทันเลยปล่อยให้เล่นต่อ ขณะที่ผู้เล่นเยอรมันพยายามประท้วง

นาที 40 เยอรมัน ต้องเปลี่ยนตัวคนแรกเมื่อ มัทธิอัส กินเทอร์ บาดเจ็บเล่นต่อไม่ไหว ต้องส่ง โยนาธาน ทาห์ ลงเล่นแทน ก่อนจบครึ่งแรกไปแบบโนสกอร์

ครึ่งหลัง เยอรมัน มาได้ประตูที่ต้องการในนาที 48 ลูคัส คลอสเตอร์มันน์ เติมขึ้นมาเปิดบอลทางฝั่งขวา กองหลังไอร์แลนด์เหนือเคลียร์ไม่ขาด บอลเลยไปถึง มาร์เซล ฮัลสเต่นแบร์ก แบ็กซ้ายจาก แอร์ไบ ไลป์ซิก ได้เอี้ยวตัววอลเล่ย์ส่งบอลย้อนเข้าเสาไกลสุดสวยเป็น 1-0

เยอรมัน น่าได้ประตูอีกลูกสุดๆ ในนาที 53 รอยส์ แตะบอลย้อนหลังให้ ติโม แวร์เนอร์ กดด้วยซ้าย บอลจะเสียบโคนเสาอยู่แล้วแต่ ไบลี่ย์ พีค็อก-ฟาร์เรลล์ พุ่งปัดปลายมืออกหลังหวุดหวิด อีก 3 นาทีถัดมา รอยส์ ได้ยิงฟรีคิก แต่ก็ติดเซฟของ ไบลี่ย์ พีค็อก-ฟาร์เรลล์

ช่วงทดเวลานาทีที่ 90+2 ทีมเยือนมาบวกลูกสองปิดกล่อง จากจังหวะที่ ไค ฮาแวร์ตซ์ จ่ายทะลุช่องให้ กนาบรี้ หลุดไปยิงด้วยขวาอย่างเฉียบคม ทำให้สุดท้ายจบเกมเป็นเยอรมันบุกมาชนะไป 2-0 เก็บเพิ่มเป็น 12 แต้มเท่ากับไอร์แลนด์เหนือ แต่แซงขึ้นไปนำเป็นจ่าฝูงของกลุ่มซี จากการมีผลต่างประตูได้เสียดีกว่าที่ +11 ต่อ +3

ฮอลแลนด์ ฮอตต่อเนื่อง ถล่ม เอสโตเนีย 4-0 คัดยูโร กลุ่มซี

football 1

การเเข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 รอบคัดเลือก กลุ่มซี เจ้าบ้านเอสโตเนีย เปิดบ้านพบกับ ฮอลแลนด์

เกมนี้ โรนัลด์ คูมัน จัดทัพมาในระบบ 4-3-3 แยสเปอร์ ซิเลสเซน ลงเฝ้าเสา คู่กองหลัง เวอร์จิล ฟาน ไดค์ จับคู่กับ มัทไธส์ เดอ ลิกต์ แดนกลาง แฟรงกี้ เดอ ยอง, จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม และ เดวี พร็อพเพอร์ แนวรุก ไรอัน บาเบล, เมมฟิส เดอปาย และดาวรุ่งอย่าง ดอนเยลล์ มาเลน

ผลปรากฏว่า นาทีที่ 17 ฮอลแลนด์ ได้ประตูนำก่อน 1-0 เมื่อ ดาเล่ย์ บลินด์ เปิดบอลเรียดจากซ้ายเขตโทษ ไรอัน บาเบิล วิ่งเข้ายิงง่ายๆ เข้าไป เเละจบครึ่งเเรกด้วยสกอร์นี้

ครึ่งหลัง ฮอลแลนด์ ได้ประตูนำ 2-0 ในนาที 48 เมื่อ เมมฟิส เดอปาย เปิดบอลสุดสวยจากฝั่งขวาให้ บาเบิล ตั้งคอโหม่งเน้นๆ เข้าไปสวยงาม

นาที 56 ฮอลแลนด์ เกือบได้อีกลูกในนาที 56 เมื่อ เดอปาย เปิดเตะมุมให้ ฟาน ไดค์ ลอยตัวโขกเต็มศีรษะ แต่บอลถากเสาออกหลังไปนิดเดียว

ฮอลแลนด์ มาได้ประตูนำ 3-0 ในนาที 76 มัทไธส์ เดอ ลิกท์ ตักบอลยาวไปให้ เดอปาย จับลงก่อนพลิกหนีตัวประกบแล้วยิงเล่นทางจากกรอบเขตโทษเข้าประตูไปอย่างสุดยอด

นาทีที่ 87 เมื่อ เมมฟิส เดอปาย โยนลูกฟรีคิกเข้ามาหน้าปากประตู จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม เทคตัวขึ้นโหม่งบอลตุงตาข่าย ฮอลแลนด์นำ 4-0

จบเกม ฮอลแลนด์ บุกมาเอาชนะ เอสโตเนีย 3-0 คว้า 3 คะแนนเก็บเพิ่มเป็น 9 คะแนนรั้งอันดับสาม ตามหลังเยอรมันและไอร์แลนด์เหนือ สองอันดับแรก 3 คะแนนแต่แข่งน้อยกว่าหนึ่งนัด ขณะที่ เอสโตเนียยังไม่มีคะแนน จมบ๊วยของกลุ่ม

ผลคู่อื่นๆ

กลุ่มอี

  • อาร์เซอร์ไบจัน เสมอ โครเอเชีย 1-1
  • ฮังการี แพ้ สโลวาเกีย 1-2

กลุ่มจี

  • ลัตเวีย แพ้ มาร์ซิโดเนีย 0-2
  • โปแลนด์ เสมอ ออสเตรีย 0-0
  • สโลวีเนีย ชนะ อิสราเอล 3-2

กลุ่มไอ

  • รัสเซีย ชนะ คาซัคสถาน 1-0
  • ซาน มาริโน แพ้ ไซปรัส 0-4
  • สกอตแลนด์ แพ้ เบลเยียม 0-4